ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอคีรีมาศ อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มีเนื้อที่ประมาณ 341 ตารางกิโลเมตรหรือ 213, 125 ไร่ 

         อุทยานแห่งชาติรามคำแหง หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักันในนาม ป่าเขาหลวง มีความเกี่ยวข้องกับเมืองสุโขทัยตามความในศิลาจารึกหลักที่ 1 
ด้านที่ 3 ว่า

          "..เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกูฎีพีหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร้าวป่าลาง มีป่าม่วงป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุง ผีเทพดาในเขา (เขาหลวง) อันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู่ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผี้ไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คู้มบ่เกรง เมืองนี้หาย…" 

          ความในศิลาจารึกดังกล่าวทำให้ทราบว่า บริเวณป่าเขาหลวงนี้ มีอิทธิพลต่อการดำรงชีพและเป็นสิ่งยึดถือของบรรพบุรุษในเมืองสุโขทัยอย่างยิ่ง หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังมีร่องรอยปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

          อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ได้รับการพิจารณาเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2523 โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติรามคำแหง เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นับเป็นอุทยานลำดับที่ 18 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ

          ภูมิประเทศอุทยานแห่งชาติรามคำแหง เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดตัวอยู่ในแนวเหนือใต้ ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นราบคล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่โดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รอบเขตอุทยานฯ ประกอบด้วยยอดเขาที่สำคัญ 4 ยอด คือ ยอดเขาเจดีย์ ยอดเขายารายณ์ ยอดเขาภูกา และยอดเขาแม่ย่า 

ลักษณะภูมิอากาศ

          อากาศบนยอดเขาหนาวเย็นตลอดปี มีเมฆหมอกปกคลุมมากในช่วงฤดูหนาว และฤดูฝน บางเวลาจะมีลมแรง อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 12-14 องศาเซลเชียส ฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ฝนจะตกชุกในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ช่วงที่อากาศเย็นสบายที่สุดอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

พรรณไม้และสัตว์ป่า

          สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแห่งชาติรามคำแหง มีความอุดมสมบูรณ์มาก ประกอบไปด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้าธรรมชาติ พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ สัก ตะเคียน มะค่าโมง มะค่าแต้ ประดู่ กระบก กระบาก ยาง บุนนาค ก่อ มะม่วงป่า กระดังงาดง มะหาดตาเสือ พะยอม เต็ง รัง พลวง และไผ่ชนิดต่างๆ เช่น ไผ่หก ไผ่ ป่า ไผ่ซา ไผ่รวก ไผ่มันหมู บริเวณทุ่งหญ้าบนยอดเขาจะมีสมุนไพรและว่านขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก

          พื้นที่ป่าเขาหลวงส่วนใหญ่ เป็นภูเขาสูงชัน มีเทือกเขาสลับซับซ้อน มีพืชอาหารสัตว์ และทุ่งหญ้าอยู่บนที่สูงบริเวณยอดเขา สัตว์ป่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ได้แก่ วัวแดง เก้ง หมี หมูป่า ชะนี กะรอก และนกชนิดต่างๆ 

จุดเด่นที่น่าสนใจ

 

          เขาหลวง เป็นภูเขาที่มียอดสูงที่สุดอยู่ทางทิศใต้ของเมืองสุโขทัย ลักษณะสัณฐานคล้ายสตรีนอนสยายผมโดยมีส่วนของใบหน้าเคลียอยู่กับเมฆหมอกตลอดเวลา บนยอดเขามีทิวทัศน์สวยงามมาก ประกอบไปด้วยยอดเขาสูง 4 ยอด คือ ยอดเขานารายณ์ ยอดเขาภูกา และยอดเขาแม่ย่า ยอดเขาภูกา และยอดเขาแม่ย่าเป็นยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร 

          ทุ่งหญ้าธรรมชาติ บนยอดเขาจะเป็นทุ่งหญ้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ มีหญ้าหลายชนิดขึ้นอยู่รวมกัน บางชนิดเป็นพืชสมุนไพร 

          ไทรงาม  เป็นต้นไทรขนาดใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาสวยงาม เป็นที่นั่งพักผ่อนระหว่างทางขึ้นยอด

          สวนว่านยาสมุนไพร   มีว่านยา สมุนไพรประมาณ 163 ชนิด ในสวนลุ่ม สวนขวัญ สวนน้ำดิบเข็มหลอด 

          น้ำตกสายรุ้ง   เป็นน้ำตกที่สูงชันแลสวยงาม เกิดจากต้นน้ำบริเวณเขาเจดีย์ ไหลลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีโตรกผาสูงชันกว่าร้อยเมตร แต่จะมีน้ำตกเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น 

          รอยพระพุทธบาท

          ปรางค์เขาปู่จ่า

          ถ้ำพระนารายณ์

          ถ้ำพระแม่ย่า

          ปล่องนางนาค

          เขื่อนสรีดภงส์