ถ้ำเจ้าราม สันนิษฐานว่า คือ ถ้ำพระราม ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 ว่า 
"…จาริกอันณึ่ง มีในเมืองเชลียง สถาบกไว้ด้วยพระศรีรัตนธาต จาริกอันณึ่ง มีในถ้ำชื่อถ้ำพระราม อยู่ฝั่งน้ำสำพาย…" โดยมีการเรียกชื่อผิดเพี้ยนไปจากถ้ำพระราม เป็น ถ้ำเจ้าราม และแม่น้ำสำพาย คือ แม่น้ำลำพันที่อยู่ใกล้ถ้ำเจ้ารามในปัจจุบัน ถ้ำเจ้ารามนี้ คือสถานที่ซึ่งค้นพบพระพุทธรูปศิลา ที่ต่อมาชาวบ้านทุ่งเสลี่ยมเรียกขานกันว่า หลวงพ่อศิลา 

         ถ้ำเจ้ารามตั้งอยู่ หมู่ที่ 9 ตำบลวังน้ำขาว อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย อยู่ห่างจากอำเภอทุ่งเสลี่ยม 23 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ถ้ำเจ้ารามนี้เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีมูลค้างคาวซึ่งนำมาทำเป็นปุ๋ยได้ ทางราชการได้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปเก็บมูลค้างคาวมาขาย รายได้จากภาษีมูลค้างคาวในแต่ละเดือนมีมูลค่าสูงถึง 80,000 บาทต่อเดือน และในรอบปีสามารถเก็บมูลค้างคาวได้เป็นเวลา 8 เดือน 

          ทางจังหวัดสุโขทัยได้จัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชมถ้ำเจ้าราม และชมฝูงค้างค้าวนับแสนตัวที่บินออกจากถ้ำเพื่อหากินในตอนกลางคืน ค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีการติดต่อสื่อสารโดยการส่งผ่านคลื่นโซนาร์ เพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่างๆ ค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำเจ้ารามเป็นค้างคาวกินแมลงและน้ำหวาน มีอยู่ 6 ชนิด คือ ค้างคาวเล็บกุด ค้างคาวปีกถุงใหญ่ ค้างคาวหน้ายักษ์กระบังหน้า ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ ค้างคาวปากย่น และค้างคาวปีกพับใหญ่ 

          ที่น่าแปลกใจคือ ทุกครั้งที่ฝูงค้างคาวเริ่มบินออกจากถ้ำเพื่อออกจับแมลงกินเป็นอาหาร จะมีค้างคาวกลุ่มแรกทำหน้าที่เป็นค้างคาวหน่วยกล้าตายที่เสียสละชีวิตตัวเอง โดยจะบินหลอกล่อให้เหยี่ยวที่รอจับกินค้างคาวหันเหบินไล่ตามค้างคาวกลุ่มแรก ค้างคาวกลุ่มต่อมาจะบินออกจากถ้ำเป็นฝูงต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสาย เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ผู้ชมจะมองเห็นฝูงค้างคาวนับแสนตัวที่บินออกมาเกาะกลุ่มกันเป็นเส้นโค้งยาวพาดผ่านท้องฟ้ายามโพล้เพล้ ดูน่าตื่นตาตื่นใจ ค้างคาวเหล่านี้จะทยอยบินกลับถ้ำพร้อมกันในตอนเช้ามืด

         ผู้ที่ต้องการเข้าเยี่ยมชมถ้ำเจ้ารามจะต้องขออนุญาตจากหน่วยพิทักษ์เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหนองเคาะ ก่อนถึงถ้ำเจ้ารามประมาณ 7 กิโลเมตร โดยติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ที่ว่าการอำเภอบ้านด่านลานหอย โทรศัพท์ (055)689024