ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

กลับสู่เมนูอำเภอเมือง       


       ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ห่างจากตัวเมือง
ประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3069 ถนนปราจีนอนุสรณ์ ตึกหลังนี้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร
(ชุ่ม อภัยวงศ์) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2452  โดยให้บริษัทโฮวาร์ด เออร์สกิน เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง เพื่อถวาย
เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากเสด็จมณฑลปราจีนบุรีอีก หลังจากที่ได้เสด็จ
ในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2451แต่เสด็จสวรรคตก่อนในกลางปี พ.ศ. 2453
 

         ตึกหลังนี้ได้ใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2455รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์
อีกหลายพระองค์คราเสด็จมณฑลปราจีนบุรีโดยที่ท่านเจ้าของตึกไม่เคยใช้ตึกหลังนี้เป็นที่พำนักส่วนตัวเลย 
ตราบจนสิ้นอายุขัยในปี พ.ศ. 2465
จึงได้มีการจัดตั้งศพของท่านไว้ชั้นบนของตึกนี้ก่อนการพระราชทานเพลิงศพในปีเดียวกัน
  


รูปหล่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 
( ชุ่ม อภัยวงศ์ )


  

 

                

ภาพเขียนสีปูนเปียกบนเพดาน

        ต่อมาพระอภัยวงศ์ วรเศรษฐ (ช่วง อภัยวงศ์) ได้น้อมเกล้าถวาย
แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวอภิเษกสมรส
กับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวีซึ่งเป็นหลานสาวคนหนึ่งของท่าน
ในปี พ.ศ.2480พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวีได้โดยเสด็จ
สมเด็จพระภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาสิริโสภาพรรณวดีพระราชธิดา ไปประทับที่ประเทศอังกฤษจึงประทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดแก่มณฑลทหารบกที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรีเพื่อใช้เป็นสถานพยาบาลสำหรับทหารและประชาชนทั่วไปต่อมาได้โอนมาเป็นของกรมสาธารณสุขและโรงพยาบาลแห่งนี้ได้เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดปราจีนบุรี ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484และเปลี่ยนชื่อเป็น
                      
        
" " 

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2509 
เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระคุณของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 
ผู้สร้างตึกและสร้างความเจริญให้กับจังหวัดปราจีนบุรีอย่างมากมาย



พระราชปรารภ ของพระพุทธเจ้าหลวง 
เกี่ยวกับคุณค่าของยาไทย 


                                         หัวเสาราวบันได

                                                                     มีดหมอ

                                                                   รางบดยา

                       
                                                    
ตู้เก็บยาไทยแผนโบราณ
          
        ตึกหลังนี้ได้ใช้เป็นห้องตรวจโรค ห้องจำหน่ายยา ห้องผ่าตัด 
และห้องคนไข้หญิง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2512 การก่อสร้าง
ตึกอำนวยการได้เสร็จสิ้นลง ทางโรงพยาบาลจึงใช้ตึกหลังนี้
เฉพาะการสัมมนาในบางกรณี ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2533 
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็น
โบราณสถาน และในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 ตึกหลังนี้ได้
ใช้รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
ในการเสด็จส่วนพระองค์เพื่อทอดพระเนตรตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบบาโร้ค (Barogue) 
เป็นตึกสองชั้นมีมุขด้านหน้าตรงกลางเป็นโดม   ผนังด้านนอก
มีลายปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง
ภายในตึกแบ่งออกเป็นหลายห้อง ห้องที่งดงามที่สุดคือ 
ห้องโถงกลางชั้นล่างซึ่งยังคงลักษณะการตกแต่งภายในแบบเดิม
อยู่ครบถ้วนตั้งแต่ลวดลายกระเบื้องปูพื้นภาพเขียนสีปูนเปียกบน
เพดาน และลายปูนปั้นหัวเสาปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงประวัติ
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ของใช้ประจำตัว พระฉายาลักษณ์พระนางเจ้า
สุวัทนาพระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์
ราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นหลานปู่และหลานทวดของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรด้วยห้องชั้นล่างซีกซ้ายของอาคารจัดเป็น     
             
            "พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร"

โดยนายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ได้มอบวัสดุครุภัณท์เกี่ยวกับยาไทย เช่น ตู้เก็บสมุนไพร ครกบดยา 
รางบดยา หินฝนยา ตำรายาไทย ฯลฯเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาการ
แพทย์ไทย และสนับสนุนการจัดตั้ง "มูลนิธิหมื่นชำนาญแพทยา" ขึ้น 
หมื่นชำนาญแพทยา(พลอย แพทยานนท์)เป็นบุตรของแพทย์หลวง
ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยเป็นอย่างมาก 
พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรเปิดบริการให้เข้าชม
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2539

 

 

 

 

.........................................................................................................
สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยรามคำแหง
| เกี่ยวกับโครงการ | ผู้ร่วมสนับสนุน | สารสนเทศฯสาขาวิทยบริการฯ | สารสนเทศจังหวัดปราจีนบุรี | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
สารบัญหลัก| ประวัติ แผนที่ | สภาพทั่วไป | สภาพทางสังคม | สภาพทางเศรษฐกิจ | การท่องเที่ยว | ศิลปวัฒนธรรม
โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ โครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวป่า | บุคคลดีเด่น | เอกสารอ่านเพิ่มเติม |
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง | ค้นหา( ดรรชนีคำ) |