26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2518 
นับเป็นวันที่สำคัญยิ่งของประชากรชาวรามคำแหง 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 
เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
 และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 
ณ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลางฯ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงถือ
เอาวันที่ 26 พฤศจิกายน เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ 
 

 
หลังจากที่พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว 
ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต
ความตอนหนึ่งว่า...
 
 

             "...มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้เป็นมหาวิทยาลัยในแบบที่ให้โอกาสแก่
  ผู้ปรารถนาวิชาความรู้ ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง
   และอย่างอิสระจึงอำนวยประโยชน์ได้มาก 
          ในด้านสนับสนุนส่งเสริมบุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว 
  ให้ได้ฟื้นฟูเพิ่มพูนความสามารถของตนทางด้านวิชาการ เพื่อนำไปปรับปรุง
  การงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยกฐานะหน้าที่ให้สูงขึ้น
          มหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริม
  ผู้ที่เข้ามาศึกษาดังนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วทุกคนควรจะได้มองเห็น
  และควรที่จะได้น้อมนำมาเป็นคติในการดำเนินชีวิต และการงานต่อไป  
  โดยทำความตั้งใจและความเพียรให้มั่นคง ในอันที่จะฝึกฝนและปรับปรุงตนเอง
  ในการทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดควรจะได้พยายาม
  หาทางนำความคิดวิทยาการซึ่งอุตส่าห์ฝึกฝนศึกษามาได้ด้วยยากนั้นมาใช้ 
  ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความ
  เจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองของเรา..."

 



 

          นับตั้งแต่เริ่มเปิดทำการสอนเมื่อพุทธศักราช 2514 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ
   มาแล้วประมาณ 400,000 คน ขณะเดียวกันก็ยังดำรงความเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีพัฒนาการก้าวไกลอย่างไม่หยุดยั้ง มีภารกิจในการให้การศึกษาแก่นักศึกษา
   ในระดับต่างๆ อยู่อีกมากกว่า 400,000 คน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค          
           มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับการจดจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การศึกษาของไทยว่าเป็นสถาบันแรกที่มีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยไม่จำกัดจำนวน
   ในระบบตลาดวิชา ให้โอกาสเสรีแก่ผู้ที่ปรารถนาจะศึกษาหาความรู้วิทยาการสาขาต่างๆ อย่างกว้างขวางโดยเสมอภาค   
   ไม่ว่าจะเป็นผู้ด้อยโอกาส หรือ ผู้อยู่ในภูมิภาค ที่ห่างไกลเป็นการศึกษาโดยถ้วนทั่ว (Education for all) 
          นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง จึงได้สนับสนุนให้นำเทคโนโลยี
   ที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อประสานประโยชน์ในการเรียนการสอนทุกระดับ พร้อมๆ กับการรับผิดชอบในภารกิจอื่นๆ อันเป็นหน้าที่หลักของสถาบันอุดมศึกษา 
   ได้แก่ การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและชุมชน ตลอดจนการทะนุบำรุงและสืบสานศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้เป็นของชาติ

         

 
          "สุพรรณิการ์" หรือชื่อท้องถิ่นเรียกว่า ฝ้ายคำ เป็นพรรณไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทาน
จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พรรณไม้นี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในท้องที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ความสวยงามเด่นสะดุดตาของดอกสีเหลืองทองเมื่อบานสะพรั่งพร้อมกันทุกต้นเปรียบประดุจนักศึกษาและบัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
ซึ่งเพียบพร้อมด้วยความรู้และคุณธรรมอันจักเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

 .........................................................................................................
สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยรามคำแหง
| เกี่ยวกับโครงการ | ผู้ร่วมสนับสนุน | สารสนเทศฯสาขาวิทยบริการฯ | สารสนเทศจังหวัดปราจีนบุรี | เว็ปไซด์มหาวิทยาลัยรามคำแหง |