โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรข้าวป่าในสภาพธรรมชาติ
 


 


              ข้าวป่า เป็นข้าวที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยทั่วไปจะพบเห็นในลำคลองข้าง ๆ ทาง 
        ในแอ่งน้ำริมแปลงข้าวปลูกหรือในแปลงข้าวปลูก ชื่อข้าวป่าอาจถูกเรียกแตกต่างกันไป เช่น 
        ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า หญ้าข้าวนก ภาคกลางเรียกข้าวละมาร หรือ 
        หญ้าละมาน เป็นต้น จากข้าวป่าที่สำรวจพบทั่วโลก 21 ชนิด พบว่ามีในประเทศไทย 
        อย่างน้อย 5 ชนิด ข้าวป่าบางชนิดเป็นบรรพบุรุษของข้าวปลูกและมีความหลากหลาย 
        ทางพันธุกรรมสูง ปัจจุบันมีการนำข้าวป่ามาทำประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากยังมีข้อมูล 
        ไม่เพียงพอ สาเหตุจากมนุษย์ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพน้อยเกินไป 
        ข้าวป่าเหล่านี้ใกล้จะสูญพันธุ์อันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศ การขยายเมือง สร้างถนน 
        สร้างเขื่อน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตพืช เช่น การปลูกข้าว 
        พันธุ์ดี ยิ่งกว่านั้นข้าวป่าบางชนิดมีการแพร่กระจายในบริเวณจำกัด ติดเมล็ดน้อย จึงมีความ 
        เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก มีรายงานว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี (พ.ศ.2526-2536) 
        ปริมาณข้าวป่าในประเทศไทยลดลงถีง 23 % แม้ว่าสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร 
        ได้พยายามรวบรวมและนำเมล็ดป่าเหล่านี้มาอนุรักษ์ไว้ในที่ปลอดภัยนอกถิ่นเดิม (Ex situ 
        conservation) และในธนาคารเชื้อพันธุ์ (Genebank) แล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถ 
        ป้องกันการเสื่อมทางพันธุกรรมหรือสูญพันธ์ได้ทั้งหมด และยังเป็นการหยุดวิวัฒนาการ 
        ตามธรรมชาติของข้าวป่าอีกด้วย ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรข้าวป่าในสภาพธรรมชาติ 
        (In situ conservation of wild rice)จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมให้ข้าวป่า
        ยังคงมีวิวัฒนาการด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมต่อไป

               สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญ
       ด้านความหลากหลาย ทางชีวภาพต่อการพัฒนาพันธุ์พืชในอนาคต จึงทรงมีพระราชดำริ 
       ผ่านทางองคมนตรี นายอำพล เสนาณรงค์ ให้จัดตั้งโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรข้าวป่า 
      กรมวิชาการเกษตรได้รับสนองพระราชดำริจัดตั้งโครงการอนุรักษ์ข้าวป่าขึ้นในปี พ.ศ.2538 
       สถาบันวิจัยข้าวโดยศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีร่วมกับมหาวิทยาลัย Shizuoka โดย 
       นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นดำเนินการศึกษาทดลองในที่สาธารณะประโยชน์ พื้นที่ประมาณ 
       13 ไร่ ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีผลการศึกษาสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง
       ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาเห็นว่า เนื่องจากยังมีพื้นที่ข้าวป่าอีกหลายสิบไร่
       ในบริเวณที่สาธารณะประโยชน์ใกล้ศูนย์วิจัยข้าวปราจีน คือพื้นที่ภาคตะวันออก 4 จังหวัด 
       ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี  นครนายก ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว สมควรดำเนินการ
       อนุรักษ์และศึกษาตามแนวพระราชดำริที่เคยดำเนินการมาแล้ว เพื่อนำทูลเกล้าฯถวาย 
       สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสนองพระราชดำริ

                 เป้าหมายของโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรข้าวป่า ในสภาพธรรมชาติคือ 
      ทราบวิวัฒนาการ ของข้าวป่าในแปลงปกปักพันธุกรรมข้าวป่า ทราบแหล่งข้าวป่า  
      ในภาคตะวันออก และสามารถปกปักพันธุกรรมข้าวป่าไว้ไนถิ่นเดิม 1 แห่ง 
      ขอบเขตแปลงปกปักข้าวป่าในสภาพธรรมชาติกำหนดไว้ประมาณ 80-100 ไร่ 
      ระยะเวลาดำเนินการใช้เวลา 5 ปี (พ.ศ.2541-2545) โดยได้รับงบประมาณ 6.5 ล้านบาท




 

 ( เมล็ดข้าวป่าและรวงข้าวป่า )
เมล็ดข้าวป่ามีสีแดงยาวขนาด 7- 8 มม. หางเป็นสีฟาง ยาว 10 - 12 เท่าของความยาวเปลือก


 


 ข้าวป่าสามารถแตกหน่อที่ขั้วได้ดีเวลาน้ำลด ต้นข้าวทาบกับผิวดิน และหน่อที่แตกจากข้อบริเวณส่วนกลางนี้จะสมบูรณ์ดีมาก
  


 
แปลงอนุรักษ์ทรัพยากรข้าวป่าในสภาพธรรมชาติเป็นที่ลุ่มน้ำลึก
ช่วงฤดูฝนบางปีน้ำลึกถึง 3 เมตร

    ข้าวชนิดต่าง ๆ ที่ควรรู้จัก

      
ข้าวป่า (Wild Rice) ข้าวป่าประเภทแรก เป็นข้าวป่าที่เป็นเครือญาติของข้าวที่คนไทย
   บริโภคทุกวัน อยู่ในสกุลเดียวกัน (Oryza) มีประโยชน์ในการใช้เป็นเชื้อพันธุ์ เพื่อผสมและปรับ
   ปรุงคุณภาพของข้าวปลูก จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์สายพันธุ์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป ปัจจุบันสภาวิจัยข้าว
   ได้รักษาไว้ในสภาพป่าถิ่นเดิมอยู่หลายแห่ง เช่น ปราจีนบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี และนครนายก 
    เป็นต้น
       โครงการวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้าวป่าในขณะนี้ได้แก่ การผสมข้ามพันธุ์ข้าวป่ากับข้าวปลูก
   ให้ข้าวปลูกสามารถอยู่ข้ามปีได้หลายปีๆ โดยไม่ต้องปลูกใหม่และเกาะยึดหน้าดินไม่ให้เกิดการ
   ชะล้างอย่างรุนแรงในต้นฤดูฝน อีกโครงการหนึ่งได้แก่การปรับปรุงข้าวปลูกให้มีเมล็ดและสีคล้าย
   ข้าวป่า แต่รสขาตินุ่มนวลเหมือนข้าวป่าอเมริกัน หรือที่เรียกในเมืองไทยว่าข้าวป่ายักษ์ (Giant 
   Wild Rice)ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยและพระราชทานคำแนะนำ
   ให้ทดลองปลูกศึกษาเพื่อไม่ให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

      
ข้าวป่ายักษ์ (Wild Rice) อาหารฝรั่งประเภทสัตว์ปีก เช่น เป็ด หรือห่าน จะมีข้าว
   ชนิดหนึ่งเป็นเครื่องเคียงประเภทผักมาด้วยลักษณะเมล็ดจะใหญ่ยาวกว่าข้าวเมล็ดยาวของไทย 
   มีสีม่วงเข้มรสชาติคล้ายข้าวซ้อมมือแต่นุ่มนวลกว่า ข้าวชนิดนี้เป็นพืชวงศ์หญ้า แต่คนละสกุล
   (Genus) กับข้าวปลูกต้องนำเข้าจากสหรัฐอเมริการาคาค่อนข้างแพงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 
   Zizania aquatica ชื่อสามัญมีหลายชื่อ เช่น wild rice, indian rice, water rice, 
   water oats เป็นพืชพื้นเมืองขึ้นตามริมน้ำ หนองบึง ในสหรัฐอเมริกาตอนเหนือ แคนาดา และ
   ภาคเหนือของประเทศจีน พวกนกเป็ดน้ำ และห่านชอบกินเป็นอาหารในเขตอนุรักษ์ป่าของสหรัฐ
   อเมริกาและแคนาดาจะมีขึ้นอยู่มากตามธรรมชาติ พืชชนิดนี้ยังไม่เคยพบในประเทศไทย 
   สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเคยนำเมล็ดพันธุ์จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเมื่อประมาณ
   ปีพ.ศ.2529 สถานีวิจัยข้าวได้ทดลองปลูกตามสถานีทดลอง และศูนย์วิจัยต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่ประสบ
   ผลสำเร็จเท่าที่ควร ต้นไม่แข็งแรงและยังไม่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทย 
   ข้าวไม่แตกกอและเมล็ดก็เล็กกว่าพันธุ์เดิม ข้าวป่ายักษ์มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Wild Rice 
   เช่นเดียวกัน บางท่านจึงเข้าใจสับสนกับข้าวป่า (Oryza spp.) ซึ่งเป็นพืชคนละสกุลกัน จึงใช้
   ชื่อไทยว่าข้าวป่ายักษ์

      
ข้าวกล้อง (Brown Rice) คือข้าวเปลือกทุกพันธุ์ทั่วไป ที่กะเทาะเอาเปลือก (แกลบ) 
   ออกอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีการขัดสีเอาเยื่อหุ้มเมล็ดออกเหมือนข้าวสารขาวทั่วไป จึงมีคุณค่าทาง
   อาหารสูงกว่าข้าวขาวมาก และมีกากมากกว่าทำให้ท้องไม่ผูกแต่เมื่อหุงต้มแล้วจะแข็งกระด้างกว่า
   ข้าวขาว ข้าวกล้องมักมีสีคล้ำกว่าข้าวขาว บางพันธุ์มีสีน้ำตาล น้ำตาลเทา น้ำตาลเข้ม น้ำตาลแดง 
   ม่วง และบางที่ม่วงจนเกือบดำ บางคนเชื่อว่าข้าวกล้องสีน้ำตาลแดง (ข้าวแดง) มีคุณค่าทางอาหาร
   สูงกว่าข้าวกล้องชนิดขาว ในอดีตมีผู้บริโภคน้อยและราคาถูก ดังนั้นหน่วยทหารและเรือนจำเท่านั้น
   ที่ใช้ข้าวกล้องแดงหุงเลี้ยงทหารและนักโทษ

       ปัจจุบันมีข้าวกล้องหลายชนิดที่มีรสชาติอร่อย นุ่มนวล และมีกลิ่นหอม เช่น ข้าวกล้องของข้าว
   พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรีและพันธุ์ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1 เป็นต้น
   นอกจากนี้ยังมีข้าวกล้องชนิดเมล็ดสีแดงอีกหลายพันธุ์ ซึ่งมีกลิ่นหอมคล้ายข้าวขาวดอกมะลิ 105 
   และกำลังได้รับความนิยมมาก

  

                                   อาหารที่ทำจากข้าวป่าอเมริกัน

                                   อาหารที่ทำจากข้าวกล้อง

                                  อาหารที่ทำจากข้าวกล้อง  

 .........................................................................................................
สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยรามคำแหง
| เกี่ยวกับโครงการ | ผู้ร่วมสนับสนุน | สารสนเทศฯสาขาวิทยบริการฯ | สารสนเทศจังหวัดปราจีนบุรี | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
สารบัญหลัก| ประวัติ แผนที่ | สภาพทั่วไป | สภาพทางสังคม | สภาพทางเศรษฐกิจ | การท่องเที่ยว | ศิลปวัฒนธรรม
โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ | โครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวป่า | บุคคลดีเด่น | เอกสารอ่านเพิ่มเติม |
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง | ค้นหา( ดรรชนีคำ) |