หลวงพ่อพระครูศรีมหาโพธิ์คณารักษ์ นามเดิม สวาสดิ์ กระโยมกุล เกิดเมื่อ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2455 ณ บ้าน
ท่าตะคร้อ หมู่ที่ 4 ตำบลศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี บิดาชื่อปั้นมารดาชื่อบุญมี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน คือ
          1. เด็กชายบุนนาก กระโยมกุล (ถึงแก่กรรมเมื่อเยาวว์วัย)
          2. นางฟื้น สุจริต
          3. พระครูศรีมหาโพธิ์คณารักษ์ (สวาสดิ์ กิตติมา)
          4. นางละเมียด ประจงพิมพ์ (ถึงแก่กรรม)
          5. นางละม้าย กระโยมกุล (ถึงแก่กรรม)
          6. นายเปี่ยม กระโยมกุล (ถึงแก่กรรม)
          7. นางละมูล กระโยมกุล
          เมื่อเจริญวัยได้เข้าเรียนจนจบชั้นประถมบริบูรณ์ ณ โรงเรียนประชาบาล วัดใหม่กรงทองเมื่อ พ.ศ. 2468 ครั้นต่อ
มาเมื่อปี พ.ศ.2469 บิดาได้นำไปฝากตัวเป็นศิษย์ ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่กับพระปลัดอ๊อด เกสโร วัดมหรรณพาราม
กรุงเทพมหานคร ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2470 ณ วัดนั้น โดยมีพระวิสุทธิโสภณ (โพธิ์ อินทโชโต ป.ธ.5) 
เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2475 ได้กลับมาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดใหม่กรงทอง โดยมีพระวิสุทธิโสภณ เป็นพระอุปัชฌาย์
และกลับไปอยู่จำพรรษาเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อตามเดิม ณ วัดมหรรณพาราม สอบไล่ได้นักธรรมเอกเมื่อปี
พ.ศ.2476 และเปรียญธรรม 6 ประโยค เมื่อปีพ.ศ.2494หลวงพ่อยังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม 
(พ.ม.) ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของประกาศนียบัตร การศึกษาจากกรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ.2504 
ซึ่งเป็นช่วงที่หลวงพ่อเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งและบริหารโรงเรียนมัธยมวัดใหม่กรงทอง ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์
เพื่อการกุศลของวัด โดยหลวงพ่อกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดใหม่กรงทอง เมื่อปี พ.ศ.2489 และการจัดตั้งโรงเรียนวัดใหม่
กรงทองขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2498 ในความอำนวยการของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิสุทธิธรรมาจารย์ (ทรัพย์ สีลวิสุทโธ) 
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูพิมลโพธาภิรัต เจ้าอาวาสวัดใหม่กรงทอง และต่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี 
          หลวงพ่อพระครูศรีมหาโพธิ์คณารักษ์เป็นพระสังฆาธิการ(เมื่อก่อนนั้นเรียกพระคณาธิการ)เริ่มตั้งแต่เป็นเลขานุการ
คณะกรรมการสงฆ์อำเภอศรีมหาโพธิเมื่อปี พ.ศ.2489 ครั้นถึงปี พ.ศ.2492 เป็นเผยแผ่อำเภอศรีมหาโพธิ และเป็น
เจ้าคณะอำเภอศรีมหาโพธิ ในปี พ.ศ.2499 ติดต่อกันเรื่อยมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน ครั้งนั้นหลวงพ่อรับภาระโรงเรียน
หนักมาก ไม่ใช่เป็นผู้จัดการโรงเรียนเท่านั้น ท่านต้องทำอะไรเองทุกอย่าง เช่น หน้าที่พระสังฆาธิการ ปกครองคณะสงฆ์
ในเขตอำเภอศรีมหาโพธิ เช่น บริหารโรงเรียน เงินอุดหนุนและเงินที่ได้รับจากการเก็บค่าเล่าเรียน ไม่เพียงพอใช้จ่ายเป็น
เงินเดือนครู ส่วนที่เหลือหลวงพ่อต้องแบกภาระจัดหาเองเกือบทั้งหมด ครูสมัยนั้นเงินเดือนก็น้อยมาก และโรงเรียนก็ค้าง
เงินเดือนครู ต้องแบ่งทยอยจ่ายเป็นประจำ บางครั้งหลวงพ่อได้รับนิมนต์ไปเทศน์ ครูบางคนต้องไปขอเจียดค่ากัณฑ์เทศน์
จากท่านมาพอให้ได้มีใช้กันบ้าง นับว่าแต่ละท่านอยู่ด้วยความทรหด เสียสละ อดทนกันจริง ๆ หาไม่แล้วโรงเรียนคงไปไม่
รอดแน่นอน หลวงพ่อเป็นนักต่อสู้ เสียสละเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม ท่านขออะไรใครไม่เป็น รบกวนอะไรใคร
ไม่เป็น จึงมีผู้เห็นอกเห็นใจท่าน ได้ช่วยเหลือเจือจุนโรงเรียนบ้าง แม้จะล้มลุกคลุกคลาน แต่หลวงพ่อก็ประคับประคอง
โรงเรียนแห่งนี้ได้ตลอดรอดฝั่งมาได้
             ในปัจจุบันโรงเรียนมัธยมวัดใหม่กรงทองได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงเรียนชั้นนำของจังหวัดปราจีนบุรีแห่งหนึ่ง 
ประสบความสำเร็จทั้งในด้านวิชาการและจริยธรรม โดยหลวงพ่อได้พระมหาสุดใจ ยโสธโร (องค์ยา) เป็นกำลังสำคัญ
ในฐานะผู้จัดการ แม้กระนั้นหลวงพ่อก็ยังอยู่ในฐานะปูชนียบุคคลอันสูงสุดของโรงเรียนมัธยมวัดใหม่กรงทอง เมื่อทาง
โรงเรียนขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์อะไร หลวงพ่อจะเข้ามาช่วยเหลือเจือจุนเสมอ โดยปกติหลวงพ่อเป็นพระสมถะ มักน้อย
สันโดษ มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ใช้ชีวิตอยู่กับงานวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี
ของท้องถิ่น และมัธยัสถ์ในการใช้จ่าย แต่ถ้าเพื่อส่วนรวมของโรงเรียนแล้วหลวงพ่อทุ่มเทให้ทุกอย่าง ทั้งกำลังกาย กำลัง
ทรัพย์ และกำลังสติปัญญา 
          ในฐานะพระสังฆาธิการ คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าหลวงพ่อเป็นเจ้าคณะอำเภอที่มีความองอาจกล้าหาญ ไม่มีปัญหา
ในการบริหารพระศาสนาในเขตปกครอง ท่านเป็นคนทันสมัยรอบรู้ข่าวสารบ้านเมือง ความสนใจด้านประวัติศาสตร์และ
โบราณคดีตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่นของท่านได้เริ่มจุดประกายขึ้นเมื่อท่านอายุประมาณ 15 ปี ท่านเล่าว่าตอนนั้นบิดาได้
ไปพบตุ่มน้ำซึ่งบรรจุเครื่องเหล็ก เครื่องมือช่างของโบราณต่าง ๆ อยู่ใต้ต้นโพธิ์ บ้านท่าตะคร้อ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน 
ทำให้ท่านมีความสนใจเที่ยวสืบเสาะไต่ถามจากท่านผู้รู้ต่าง ๆ ว่ามีโบราณสถานโบราณวัตถุอยู่ที่ไหนบ้างในเขตดงศรี
มหาโพธิ ประกอบกับเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้วได้อ่านหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ของ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ พระยาโบราณราชธานินทร์ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดล์ 
ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ฯลฯ ตลอดจนเอกสารประวัติศาสตร์ที่กรมศิลปากร และสำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ผลงาน
วิชาการและการรายงานการขุดค้นของกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร ตลอดจนสถาบันการศึกษาและวิจัยอื่น ๆ 
นำเสนอทำให้หลวงพ่อมีความเชี่ยวชาญแตกฉานในวิชาการด้านนี้ โดยเฉพาะเรื่องของจังหวัดปราจีนบุรี ในขณะเดียวกัน
ก็ได้เขียนบทความทางวิชาการไปลงพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ บ้าง ส่งไปออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่ง
ประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์บ้าง พิมพ์แจกในงานต่าง ๆ บ้าง เท่ากับเป็นผู้ริเริ่ม บุกเบิกงานค้นคว้าประวัติศาสตร์
ดงศรีมหาโพธิ อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เมื่อหลวงพ่อได้ไปเที่ยวชมโบราณสถาน โบราณวัตถุใหม่ ๆ ณ ที่ใด
ก็จะแจ้ง
ให้ทางกรมศิลปากรและคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากรทราบเพื่อตรวจสอบขุดค้น และจัดพิมพ์รายงานออกเผยแพร่ 
แม้เมื่อมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นแล้ว ท่านก็ได้มีโอกาสรับอาราธนาไปบรรยายเกี่ยวกับ
ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรีเป็นประจำ
          นักประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลวงพ่อมีความสนิทสนมคุ้นเคยด้วยมีหลายท่านซึ่งอาจกล่าว
ได้ว่าคณะอาจารย์และนักศึกษาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในยุคแรก ๆ ที่ไปบุกเบิกขุดค้นโบราณสถาน 
ณ ดงศรีมหาโพธิ เมื่อ พ.ศ.2508 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ตลอดจนนักศึกษามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย สมัยศาสตราจารย์
ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ สอนพิเศษในวิชาโบราณคดีและพุทธศิลป์ก่อน พ.ศ.2510 นั้น ไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อหลวงพ่อ 
พระครูศรีมหาโพธิ์คณารักษ์ การดำเนินงานจัดตั้งอาคารนิทรรศการที่วัดสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ และการจัดตั้ง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี กรมศิลปากรก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหลวงพ่อโดยเฉพาะการดำเนินงานของ
หน่วยศิลปากรที่ 5 จังหวัดปราจีนบุรี
          ด้วยความเป็นนักวิชาการที่บำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่งานด้านศิลป โบราณคดีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาติ 
หลวงพ่อพระครูศรีมหาโพธิ์คณารักษ์ จึงได้รับยกย่องเป็นคนดีศรีปราจีน พระราชทานเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาล
วิสาขบูชา พ.ศ.2533 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 และได้รับพระราชทานเกียรติบัตร
ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ (บทความวิชาการ และสารคดีท้องถิ่น) จากสมเด็จพระเทพรัตน
ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536

 .........................................................................................................
สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยรามคำแหง
| เกี่ยวกับโครงการ | ผู้ร่วมสนับสนุน | สารสนเทศฯสาขาวิทยบริการฯ | สารสนเทศจังหวัดปราจีนบุรี | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
สารบัญหลัก| ประวัติ แผนที่ | สภาพทั่วไป | สภาพทางสังคม | สภาพทางเศรษฐกิจ | การท่องเที่ยว | ศิลปวัฒนธรรม
โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ โครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวป่า | บุคคลดีเด่น | เอกสารอ่านเพิ่มเติม |
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง | ค้นหา( ดรรชนีคำ) |