นายฉอ้อน ทรงเดชเกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2474 ที่ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายคลัง ทรงเดช 
และนางประทิน ทรงเดช บิดามารดามีอาชีพทำนา ภรรยาชื่อ นางสวาท ทรงเดช (คงกลิ่น) มีบุตรชาย 2 คน บุตรหญิง 2 คน 
คือ นางสาวโฉม ทรงเดช พันตำรวจโทเชน ทรงเดช นางมณีวรรณ ทรงเดช และนายเด่นชัย ทรงเดช
    
     ประวัติจากคำบอกเล่า

  
"ครับ สังคมไทยเป็นสังคมมาแต่โบราณกาล วิถีชีวิตของชาวบ้านทำการเกษตร
เพาะปลูกเป็นสินค้าส่งออก ความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยทั่วไปในอดีตที่ผ่านมา
เทคโนโลยียังไม่ทันสมัย การคมนาคมขนส่งก็ไม่สะดวก ฉะนั้นการดำรงชีวิต
ของชาวบ้านจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก การที่นำข้าวมาหุงกินได้นั้นต้องใช้
วิธีตำเป็นหลักหรือที่เรียกกันว่าข้าวซ้อมมือ ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมไทยโดยแท้
    กระผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ถือกำเนิดมาเป็นลูกชาวนา หาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่เด็ก 
การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก การทำนานั้นต้องพึ่งพาธรรมชาติ
เป็นหลัก และใช้แรงงานสัตว์เข้าช่วยต่อมาเทคโนโลยีเจริญขึ้น จึงได้ใช้เทคโนโลยี
เข้าช่วยในการผลิต เมื่อเป็นเช่นนี้จึงหาหนทางที่จะทำอาชีพอื่นเข้ามาเสริมรายได้
ให้ครอบครัวอยู่ดีกินดีกับเขาบ้าง ผมก็คิดว่าการตำข้าวเม่าด้วยการซ้อมมือเพราะ
เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การคมนาคมไม่สะดวกต้องขึ้นรถลงเรือ
หลายทอดหลายต่อกว่าจะถึงที่ขายในตอนนั้น การตำข้าวเม่านั้นก็ตำกันเฉพาะ
สากไทยเท่านั้น ใช้เวลาตำเพียง 18 วันเท่านั้นก็ต้องรีบตำให้ได้มาก ๆ เพื่อให้พอ
กับความต้องการของตลาด แต่ก็ตำได้เพียง 3-5 ถังเท่านั้น ผมจึงคิดหาวิธีใหม่
หาครกมาเสริมเข้าอีกหนึ่งลูก ก็ยังตำได้เพียง 8 ถัง 10 ถัง เท่านั้น ต้องใช้คนตำถึง 5 คน คือครกละ 2 คน คนคั่วอีกหนึ่งคนเป็น 5 คน ก็ยังไม่พอกับความต้องการอีก
    พอมาปี 2529 ผมก็ได้เปลี่ยนแปลงใหม่ โดยคิดค้นเอารถไถนาเก่า ๆ มา
ประกอบขึ้นเป็นกระเดื่องและใช้ล้อขึ้นเหยียบท้ายคันสากแทนคนเหยียบ ก็ปรากฎว่า
ได้ผลตามที่ต้องการและลดคนไปได้อีก 2 คน ก็เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปได้อีก
ขั้นหนึ่ง เท่านั้นยังไม่พอที่ผมทำไปได้พิจารณาไปก็พบว่า การตำนั้นยังมีปัญหาคือ
ข้าวเม่าที่คั่วออกมาใหม่ ๆ ยังร้อนอยู่เมื่อตำไปก็เป็นขี้หมา ( คล้ายก้อนขี้หมา ) ทำให้ตำไม่สวยเท่าที่ควร ธรรมดาแล้วตำด้วยมือนั้นเมื่อคั่วเอาลงครกตำใหม่ ๆ จะต้องคอยบุบให้เปลือกแตก พอคลายความร้อนไปเกือบครึ่งจึงจะตำแรง ๆ ได้ข้าวเม่าจึงสวยไม่เป็นขี้หมาแต่ผมก็ยังแก้ปัญหาไม่ตก
    พอมาถึงปี พ.ศ.2530 ผมก็ได้ค้นพบวิธีใหม่คือเอาเครื่องกระเทาะข้าวเปลือก
มาขึ้นอยู่ระหว่างกลางครกกับเครื่องเพื่อให้สายพานชุดสีในเครื่องเดียวกันแต่เมื่อทำ
ไปก็ค้นพบข้อบกพร่องอีกอย่างหนึ่งเมื่อสีออกมาเร็วและตำได้เร็วด้วยการฟัดด้วย
กระด้งมันจึงทำให้ช้าไปแต่ก็ให้ผ่านไปอีก 1 ปี จะทำใหม่ก็ทำไม่ได้เพราะจะต้อง
ตำทุกวัน
    พอมาถึง พ.ศ.2531 ผมก็ได้ทำพัดลมเป่าแกลบโดยใช้เพลาท่อเก่า ๆ มาทำ
เป็นแกนส่งออกไปห่างตัวเครื่องแล้วใส่วินสำหรับชุดพัดลมแล้วย่อส่วนจากสีฝัด
ข้าวให้เล็กลงแล้วเอามาวางเพื่อใช้พัดลมเป่าก็ให้ผลตามที่ต้องการ เมื่อทุกอย่าง
เรียบร้อยผมจะตำได้ถึงวันละ 18 ถัง ถึง 20 ถัง ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จในชีวิต
ของผม ซึ่งแม้จะเป็นความคิดอันเล็กน้อยก็ตามมันทำให้ผมรู้สึกภูมิใจแต่ก็เป็น
ที่น่าเสียดาย
    เมื่อมาถึงปี พ.ศ.2533 ก็เป็นเหตุการณ์อันไม่น่าคาดคิด น้ำท่วมใหญ่ข้าวในนา
เสียหายมากจนกระทั่งพันธุ์ข้าวเหนียวของผมไม่มีเหลือแม้แต่เมล็ดเดียว จึงทำให้
ผมต้องหยุดกิจการไปโดยปริยายแต่ผมก็ยังเหลืออาชีพอีกสองอย่างคือ อาชีพทอเสื่อ
กกและทำบัวเกษตรขายเรื่อยมาจนอยู่มาวันหนึ่งผมก็จำได้ว่า  ท่านศึกษาอรุณ 
รักษาทรัพย์ ท่านได้ให้คนมาติดต่อกับผมให้ตำข้าวซ้อมมือให้ท่านแต่ผมก็ยังไม่กล้า
รับปากท่านต้องให้ไปทดลองตำให้ดูก่อน เพราะผมยังไม่เคยตำเลย เคยแต่ตำ
ข้าวเม่าถ้าหากตำได้หรือไม่ได้ผมจะติดต่อมาอีกทีเมื่อกลับมาบ้านรุ่งขึ้นอีกวันผมก็
เริ่มลงมือตำอยู่ 1 ชั่วโมงก็ใช้ได้ผมก็บอกกับท่านว่าผมทำได้แล้ว ก็ติดต่อทำส่งกับ
ท่านเรื่อยมาแต่ก็ไม่นานนักท่านไม่มีคนขายผมก็เลยต้องปิดกิจการอีกครั้งหนึ่ง 
แต่ผมก็ยังทำอาชีพเดิมของผมอยู่เรื่อย ๆ ส่วนครกและสากนั้นผมก็ยังเก็บเอาไว้
เป็นอนุสรณ์และคิดว่าจะเอาไว้ให้ลูกหลานดู แต่ผมก็ยังเป็นคนที่โชคดีอยู่อีกเพราะมี
โครงการส่วนพระองค์ได้เข้ามาอยู่ในตำบลบางแตน จึงได้มีเจ้าหน้าที่มาติดต่อให้
ผมตำข้าวซ้อมมือเพื่อจะเอาไว้ถวายในหลวง ผมก็ขึ้นไปดงน้อยไปหาข้าวหอมมะลิ 
105 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีคุณภาพเอามา 20 ถัง แล้วตำหมดเลยได้ข้าวสาร 
120 กิโลกรัม ใส่ถุงละ 5 กิโลกรัม ก็จะได้ข้าว 24 ถุง เอาถวายในหลวง 1 ถุง 
ส่วนที่เหลือเอาออกมาวางขายที่ตลาดเพื่อชุมชน
    เมื่อวันที่ท่านเสด็จมาเห็นข้าวท่านก็ทรงตรัสว่า "ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง
เรากินทุกวันเพราะว่ามีประโยชน์ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาว เอาของดีออก
ไปหมด ข้าวกล้องนี่ดี คนบอกว่าเป็นของคนจน เราก็เป็นคนจน

    จากกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ ตามโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆติดไว้ทั่วไป
เพื่อให้ประชาชนหันมากินข้าวซ้อมมือ ก็ปรากฎว่าข้าวที่ว่านั้นหมดเกลี้ยงไม่พอขาย 
และทางราชการให้ผมทำต่อไปอีกเพื่อสนองความต้องการของประชาชน
    ครับจากความรู้เล็กน้อยที่ผมมีอยู่ด้วยความตั้งใจจริงของผมจึงทำให้ผมพบกับ
ความสำเร็จในชีวิต จึงทำให้หลายหน่วยงานให้การสนับสนุนในหลาย ๆ ด้าน 
คนสำคัญของผมที่ทำให้ผมมีโอกาสตำข้าวซ้อมมือ ถ้าไม่ได้ท่านครั้งนั้น ผมคงไม่มี
โอกาสได้ตำข้าวซ้อมมือมาจนถึงทุกวันนี้ ท่านนั้นคือ ท่านศึกษาอรุณ รักษาทรัพย์ 
และอีกท่านคือนายอำเภอสุขสันต์ วนะภูติ ซึ่งได้เชิญคุณวัชระ ปราบทอง ช่อง 7 สี
มาช่วยแพร่ภาพไปทั่วประเทศ ทำให้คนรู้จักข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือมากขึ้น
    ฉะนั้นสุดท้ายนี้ผมต้องขอกราบขอบพระคุณทุกๆหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนผม
ด้วยดีตลอดมา ทำให้ผมรู้สึกอุ่นใจและมีกำลังใจที่จะทำต่อไป "















 

.........................................................................................................
สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยรามคำแหง
| เกี่ยวกับโครงการ | ผู้ร่วมสนับสนุน | สารสนเทศฯสาขาวิทยบริการฯ | สารสนเทศจังหวัดปราจีนบุรี | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
สารบัญหลัก| ประวัติ แผนที่ | สภาพทั่วไป | สภาพทางสังคม | สภาพทางเศรษฐกิจ | การท่องเที่ยว | ศิลปวัฒนธรรม
โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ โครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวป่า | บุคคลดีเด่น | เอกสารอ่านเพิ่มเติม |
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง | ค้นหา( ดรรชนีคำ) |