3. ภูมิปัญญาด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่

ตะบันไฟ

      "ไต้" เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่คิดค้นมาใช้ในยามยาก โดยหาไม้ผุๆ นำมาทุบเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อยคลุกผสมกับน้ำมันยาเรือคลุกเข้ากันดีแล้ว ห่อด้วยใบไม้หรือเปลือกไม้มัดเป็นท่อนๆ ตามต้องการ นำมาใช้จุดให้แสงสว่างในเวลากลางคืน เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "จุดไต้ตามไฟ" เมื่อจุดไต้ต้องมีคนเขี่ยไต้ ถ้าไม่มีคนเขี่ย ไต้ก็จะดับ ในสมัยนั้นการหาเชื้อเพลิงมาจุดไต้ มีความยากลำบากมาก ไม้ขีดไฟยังไม่มีใช้ พระอธิการจ้อย แก้วฉลวย อดีตเจ้าอาวาสวัดบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ได้คิดค้นหาวิธีการจุดไฟ โดยนำเขาควาย หรือไม้แดง ไม้ประดู่มากลึงด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ รูปแบบตามต้องการ เจาะรูตรงกลาง นำเอาเขาหรือไม้อีกส่วนหนึ่งกลึงเป็นก้านทำเดือยขนาดเท่ารูที่เจาะไว้ ปลายก้านเดือยคว้านให้เว้าเล็กน้อย ใช้ปุยต้นเต่าร้าง หรือปุยนุ่นนำผสมคลุกเคล้าเข้ากับดินประสิว แล้วบรรจุปุยเต่าร้างเข้าที่ปลายก้านเดือยที่คว้านไว้ อัดลงตรงรูที่เจาะไว้ ใช้มือตบที่ก้านหนักเบาตามสมควร แรงอัดของอากาศในรูที่เจาะไว้ทำให้เกิดไฟ นำไปต่อกับเชื้อเพลิงที่เตรียมไว้ ก็จะได้ไฟใช้ประกอบอาหารและอื่นๆ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านเรียกว่า "ตะบันไฟ" ที่เรียกว่าตะบันไฟเพราะถ้าทำไม่ถูกส่วน นั่งตะบันอยู่เป็นครึ่งชั่วโมงก็ไม่ได้ไฟใช้ แต่ถ้าทำถูกส่วนใช้มือตบตะบันเพียงครั้งเดียวก็ติด ใช้ไฟได้ ปัจจุบันตะบันไฟยังพอมีหลงเหลือให้ดูได้ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

 

หัตถกรรม

            เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของชาวปราจีนบุรีมาตั้งแต่อดีต ยามหน้าแล้ง เกษตรกรว่างเว้นจากกการทำนา เกษตรกรก็ได้หันมาสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ทอผ้า สานเสื่อ ตีเหล็ก เป็นต้น เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน จากเดิมที่งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ได้กลายเป็นการผลิตสินค้าที่ระลึกเป็นจำนวนมากเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และกลายเป็นอาชีพที่สำคัญของชาวปราจีนบุรี ในปัจจุบันงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่สำคัญของชาวปราจีนบุรี ได้แก่ การทอเสื่อกก หมวกสาน ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์จากเถาวัลย์ ไม้กวาดดอกหญ้า หมวกใบลาน และการทอผ้าไหม เป็นต้น

เสื่อกก อำเภอบ้านสร้าง

 

ผลิตภัณฑ์จากไผ่ไม้

      "กก" เป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ราบลุ่มมีน้ำขัง ซึ่งเป็นลักษณะพื้นที่ทั่วไปของอำเภอบ้านสร้าง ในปัจจุบัน มีศูนย์ทอเสื่อกกที่ตำบลบางปลาร้า จะมีแปลงสาธิตการทำนากก การย้อมสี จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการทอเสื่อกกเสมอ แต่เดิมทำใช้ภายในครอบครัว และเมื่อมีจำนวนมากจึงนำออกจำหน่ายเป็นผืนเสื่อ ต่อมาได้พัฒนาเป็นของที่ระลึกต่างๆ เป็นเสื่อพับและรับทำสินค้าจากแบบเสื่อตามใบสั่ง พระครูโกศลถาวรกิจ เจ้าอาวาสวัดบางแตน มีแนว ความคิดว่าเสื่อกกของอำเภอบ้านสร้าง น่าจะนำมาดัดแปลงทำพวงหรีดงานศพโดยใช้เป็นพื้นแทนแผ่นโฟมที่มักใช้ เป็นส่วนประกอบและสร้างปัญหาให้แก่วัดอย่างมากในการกำจัด ท่านได้แนะนำชาวบ้านให้รวมกันตั้งเป็นกลุ่มทอเสื่อกกบางแตนขึ้น และนำมาประดิษฐ์เป็นพวงหรีดจำหน่ายซึ่งได้รับความนิยมมาก          การทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่นั้น เกษตรกรที่บ้านต้นและบ้านโง้ง ตำบลโพธิ์งาม อำเภอประจันตคาม  ผลิตกันมาช้านานแล้ว โดยใช้ไม้ไผ่ตามหมู่บ้าน หรือจากหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ซื้ออย่างกว้างขวาง ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันนี้ ได้แก่ ชุดรับแขก ชั้นวางของ บันได และแคร่ 
  

หมวกสานจากไม้ไผ่ หรือเส้นพลาสติก

จังหวัดปราจีนบุรี เป็นแหล่งที่มีไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำมาทำเครื่องจักสานไว้ใช้ในครัวเรือนและส่งออกจำหน่ายเป็นรายได้พิเศษนอกเหนือจากการทำไร่ทำนา เช่นการนำไม้ไผ่มา
จักสานแล้วเย็บเป็นหมวกรูปแบบต่างๆ บ้านหนองสะแก หมู่ที่ 8 ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ เป็นแหล่งผลิตหมวกจากไม้ไผ่ที่สำคัญมากของจังหวัดปราจีนบุรี ชาวบ้านโดยทั่วไปประกอบอาชีพเย็บหมวก หมวก 1 ใบ ใช้เวลาเย็บประมาณ 3 นาที หมวกไม้ไผ่ของหมู่บ้านหนองสะแกนี้จะส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศไทย การผลิตหมวกสานจากไม้ไผ่ของอำเภอศรีมโหสถมีชื่อเสียงแพร่หลาย ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเย็บหมวกจากไม้ไผ่ในงานวันเกษตรปราจีนบุรี พ.ศ. 2533 และได้รับการถ่ายวีดีทัศน์ในรายการคนไทยวันนี้ ในรายการไม่ลองไม่รู้ สิ่งที่ชาวบ้านภาคภูมิใจอย่างมากคือทางจังหวัดปราจีนบุรีได้มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายหมวกสานแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นอกจากที่บ้านหนองสะแกแล้วยังมีการสานหมวกจากไม้ไผ่ที่เป็นหัตถกรรมภายในครอบครัวมากอีกแห่งหนึ่งในท้องที่อำเภอประจันตคาม คือที่บ้านหมู่ 18 ตำบลคำโตนด อีกด้วย
ปัจจุบันนี้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการสานหมวกค่อนข้างหายากและมีราคาแพง เกษตรกรผู้สานหมวก
จึงหันมาใช้เส้นพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตแทนไม้ไผ่ ซึ่งก็ได้รับความนิยมเช่นกัน การสานหมวกพลาสติกมีการผลิตที่ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ ตำบลบุฝ้าย ตำบลหนองแก้ว อำเภอประจันตคาม และตำบลหัวหว้า อำเภอ
ศรีมหาโพธิ

ผลิตภัณฑ์จากเถาวัลย์

ไม้กวาดดอกหญ้า 

เนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรียังมีพื้นที่เป็นสภาพป่าอยู่มาก จึงมีเถาวัลย์อยู่มากมายเกษตรกรได้นำเถาวัลย์ตามชายป่ามาประดิษฐ์เป็นกระถางต้นไม้บ้าง ชั้นวางของบ้างซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบให้น่าซื้อหา และมีแบบต่างๆ ไว้ให้เลือกซื้ออย่างมากมาย แหล่งผลิตอยู่ที่ตำบลโพธิ์งาม อำเภอประจันตคาม  ชาวบ้านอำเภอประจันตคาม นิยมทำไม้กวาดขายเป็นรายได้เสริมเกือบทุกครัวเรือน โดยเฉพาะที่ตำบลประจันตคาม และตำบลโพธิ์งาม นอกจากจะทำเป็นไม้กวาดสำหรับกวาดบ้านแล้วยังทำเป็นไม้ปัดฝุ่นขนาดเล็ก สำหรับปัดฝุ่นเครื่องเรือน เครื่องใช้ในบ้านอีกด้วย

หมวกใบลาน

           หมวกใบลานมีการผลิตกันมากในท้องที่อำเภอนาดี เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าลาน มีต้นลานเกิด ขึ้นเองตามธรรมชาติ ต้นลานเป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ และป่าลานที่อำเภอนาดีเป็นป่าลานแห่งสุดท้ายของประเทศ เกษตรกรได้นำใบของต้นลานที่เรียกว่า "ใบลาน" ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายและมีอยู่มากมายในท้องถิ่นมาสานเป็นหมวก และได้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามซึ่งมี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ หมวกใบลานธรรมดา มีขนาด 2.5 นิ้ว  3 นิ้ว 3.5 นิ้ว 5 นิ้ว 11.5 นิ้ว 13 นิ้ว 16 นิ้ว และหมวกใบลานคาวบอย ซึ่งมี 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก แหล่งผลิตอยู่ที่ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี 
          

ผ้าไหมกบินทร์บุรี

          แหล่งผลิตผ้าไหมทอมือของจังหวัดปราจีนบุรี อยู่ที่อำเภอกบินทร์บุรี แหล่งผลิตใหญ่คือ ร้าน "นันทวันไหมไทย" ตั้งอยู่ที่ 90 หมู่ 2 ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี (ริมถนน 304 ฉะเชิงเทรา - นครราชสีมา ใกล้เขตอุตสาหกรรมพาร์คเวย์ ) โดยซื้อเส้นไหมดิบจากจังหวัดเพชรบูรณ์ นำมาฟอกย้อมสี จากนั้นจึงนำไปเข้าเครื่องทอมือ ผลิตพร้อมทั้งจำหน่าย ผ้าไหมพื้นและพิมพ์ลาย ผ้ามัดหมี่ ผ้าบาติก เสื้อไหมสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์จากไหมอื่นๆ 

อาหารคาว 

หน่อไม้ไผ่ตง  

     อาหารซึ่งเป็นที่นิยม และมีชื่อของชาวจังหวัดปราจีนบุรี ส่วนใหญ่ปรุงมาจากหน่อไม้ไผ่ตง และปลาตะโกก ที่มาของข้อความในคำขวัญของจังหวัดส่วนหนึ่งที่ว่า "ไผ่ตงหวาน คู่เมือง" นั้น เกิดจากการที่จังหวัดปราจีนบุรี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไผ่ตง ชาวปราจีนบุรีนำเอาหน่อไม้ไผ่ตงมาประกอบเป็นอาหารได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะที่รู้จักจัดสรรทรัพยากรจากธรรมชาติให้มี "คุณค่า" กล่าวคือ การทำหน่อไม้หวานจากหน่อไม้สดๆ อ่อนๆ ที่พึ่งโผล่พ้นจากมูลดิน หรือกองแกลบ ตลอดจนใบไม้ที่คลุมสุมนั้นให้มีรสหวานตามธรรมชาติเมื่อนำมาต้มหรือแกง แม้กระทั่งผัด ก็จะได้รสชาติที่อร่อยยิ่งนัก อาหารที่ผลิตจากหน่อไม้ไผ่ตงหวานมีดังนี้ หน่อไม้ต้มจิ้มน้ำพริก ผัดหน่อไม้ ต้มหน่อไม้ใส่กระดูกหมู แกงเปรอะ แกงเผ็ดหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ฯลฯ นอกจากการนำหน่อไม้ไผ่ตงสดมาใช้รับประทานในฤดูกาลที่ไผ่ตงออกหน่อแล้ว มนุษย์ยังคิดหาวิธีที่จะยืดอายุของที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้มีรับประทานนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ หน่อไม้เป็นพืชที่เมื่อตัดออกจากต้นแล้วจะนำมาแช่หรือรักษาความสดให้คงอยู่นานได้อยากเพราะเมื่อตัดมานานแล้วหน่อไม้จะแข็ง ดังนั้นวิธีการเก็บรักษาเพื่อรอการปรุงอาหารเฉพาะหน่อไม้จึงมิใช่ตัดเก็บไว้ในตู้เย็นเหมือนพืชผักอื่นๆ แต่จะใช้วิธีต้มแล้วแช่ไว้ในน้ำ วิธีนี้จะเป็นวิธีเดียวที่จะคงความหวานและอ่อนนุ่มของหน่อไม้ไว้ได้ 

ปลาตะโกก

     เป็นปลาที่มีชื่อของจังหวัดปราจีนบุรีนิยมนำมาปรุงเป็นอาหาร มีรสชาติอร่อยมาก 
เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งของปลาตะโกกมีลักษณะเป็นดินทราย เป็นแหล่งอาหารของหอยขม ซึ่งเป็นอาหารของปลาตะโกก ปลาตะโกกที่มีอยู่ในแม่น้ำปราจีนบุรี จะอยู่บริเวณตั้งแต่เขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี ขึ้นไปถึงต้นแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณที่มีปลาตะโกกชุกชุมอยู่ที่ท่าประชุม อำเภอศรีมหาโพธิ ปลาตะโกกนิยมนำมาปรุงเป็น ต้มโคล้งปลาตะโกก ต้มยำปลาตะโกก และปลาตะโกกนึ่งมะนาว 

 

อาหารหวาน

          อาหารหวานหรือของหวานของชาวปราจีนบุรี ที่เกิดจากภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์ คิดค้นมีหลากหลายชนิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นขนมหวานที่มีส่วนผสมจากพืชพันธุ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ได้แก่ ขนมหน่อไม้ ขนมบุก ข้าวเกรียบฟักทอง กลอย ประเภทที่สอง เป็นขนมที่มีส่วนผสมของแป้ง น้ำตาล กะทิ เป็นหลัก ซึ่งเหมือนกับขนมในภาคอื่นๆ แต่เป็นของหวานที่เด่นของชาวปราจีนบุรี ได้แก่ ขนมเขียวมรกต ขนมชั้นดอกอัญชัน และข้าวตูจากข้าวกล้อง 

ขนมหน่อไม้
เป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของคนโบราณที่รู้จักดัดแปลงนำเอาพืชพรรณธรรมชาติมาปรุงเป็นอาหารหวาน เพราะมีพืชผักเพียงบางชนิดเท่านั้นที่นำมาประกอบเป็นอาหารหวานโดยใช้แป้งข้าวเจ้าที่โม่จากข้าวสารที่ใช้หุงกินในครัวเรือนเป็นส่วนประกอบหลักคู่กับน้ำตาลและมะพร้าว การทำขนมไทยๆ ที่อาศัยพืชพรรณจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ฟักทอง แฟง กล้วย หน่อไม้ ดอกโสน หรือไหลบัว จึงถือเป็นความชาญฉลาดของคนที่รู้จักสรรค์สร้างรสชาติอาหารมาเติมความพอเพียงให้แก่ความต้องการของตนเองได้อย่างน่าพิศวง
ข้าวเกรียบฟักทอง
เนื่องจากชาวบ้านอำเภอศรีมโหสถ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำนา ทำไร่กันเป็นส่วนใหญ่ผลผลิตจากไร่นาจึงเป็นรายได้ของครอบครัวที่สำคัญ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ได้คิดริเริ่มนำเอาฟักทอง ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีมากในท้องถิ่น นำมาแปรรูปเป็นส่วนประกอบหลักเพื่อทำข้าวเกรียบฟักทอง เป็นที่รู้จักแพร่หลายและนิยมรับประทานกันทั้งในท้องถิ่นและเป็นของฝากขึ้นชื่อสำหรับผู้สัญจรไปมา
ขนมเขียวมรกต
ขนมเขียวมรกต หรือเขียวใบหยกนี้ เป็นขนมที่ขึ้นชื่อที่สุดของอำเภอนาดี เป็นขนมที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นโดยแท้ ขนมเขียวมรกตแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบ และกรรมวิธีทำให้สุก โดยอาศัยฝีมือของผู้ทำเป็นประการสำคัญวัตถุดิบที่นำมาทำแยกเป็น 2 ส่วน คือ ตัวแป้ง และไส้ ตัวแป้งเป็นแป้งที่ได้จากข้าวเจ้าผสมใบเตยซึ่งให้ทั้งสีเขียว และกลิ่นหอมเย็นชวนชิม ปนกับน้ำตาลทรายให้รสออกหวานเล็กน้อย ส่วนไส้ขนมนั้นประกอบด้วย มะพร้าวขูด ถั่วเขียวผ่าซีก นึ่งจนสุกผสมกันกับเกลือให้มีรสชาติเค็มปนมันจากมะพร้าวกรรมวิธีที่ทำให้สุก จะเลือกเอาหม้อที่หุงหาอาหารในครัวเรือนนั้นมาใช้ ถ้ามีหม้อที่ไม่มีหูจับ เช่น หม้อกลม หรือ หม้อดินจะสะดวกต่อการทำ เพราะต้องใช้ผ้าขาวบางหรือผ้าสีขาวมาปิดปากหม้อไว้ เจาะผ้านั้นให้เป็นรูกว้างประมาณเท่าไข่ไก่ขนาดเล็ก เพื่อให้ไอที่ขึ้นมาตามรูที่เจาะไว้นี้ เติมน้ำในหม้อแล้วนำตั้งบนเตาไฟ เมื่อน้ำเดือดพล่านแล้วจึงตักแป้งที่เตรียมไว้ หยอดพร้อมละเลงเป็นแผ่นกลมให้บางพอประมาณลงบนผ้าที่ปากหม้อนั้น พร้อมทั้งหาฝามาครอบปิดไว้ กะพอให้ไอน้ำขึ้นมาตามรูที่เจาะไว้ ทำให้แป้งสุก เมื่อแป้งสุกแล้ว ใช้พายซึ่งทำจากไม้ไผ่อันเล็กๆ บางๆ ขนาดเท่านิ้วมือนำมาแซะลอกออกไปวางบนก้นจานที่ทาหัวกะทิรอไว้กันติดก้นจาน แล้วนำไส้ขนมที่เตรียมไว้มาหยอดใส่ให้ได้ครึ่งหนึ่งของแป้ง แล้วพับอีกครึ่งมาปิดทับ จะได้ตัวขนมที่เสร็จแล้ว รูปร่างคล้ายกับถั่วแปบ แต่มีสีเขียวและรสชาติหอมหวาน มันและอร่อย

ขนมชั้นดอกอัญชัน
ขนมชั้นดอกอัญชัน เป็นอาหารหวานที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปราจีนบุรี โดยเฉพาะที่อำเภอประจันตคาม เป็นขนมที่มีส่วนผสมของดอกอัญชัน มีสีสันสวยงามและรสอร่อย นิยมใช้ขนมชั้นในงานวันมงคลต่างๆ เพื่อทำให้ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

.........................................................................................................
สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยรามคำแหง
| เกี่ยวกับโครงการ | ผู้ร่วมสนับสนุน | สารสนเทศฯสาขาวิทยบริการฯ | สารสนเทศจังหวัดปราจีนบุรี | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
สารบัญหลัก| ประวัติ แผนที่ | สภาพทั่วไป | สภาพทางสังคม | สภาพทางเศรษฐกิจ | การท่องเที่ยว | ศิลปวัฒนธรรม
โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ | โครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวป่า | บุคคลดีเด่น | เอกสารอ่านเพิ่มเติม | เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง | ค้นหา( ดรรชนีคำ) |