1. ภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม    

การทำนาหว่านน้ำตม

     การทำนาในประเทศไทยนั้นมี 2 วิธีใหญ่ๆ คือนาดำกับนาหว่าน นาหว่านยังสามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ เช่น หว่านสำรวย หรือหว่านแห้ง หว่านน้ำตม หรือการหว่านข้าวงอก การหว่านน้ำตมหรือการหว่านข้าวงอกของชาวปราจีนบุรีเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ ที่เรียกว่าการหว่านน้ำตมเพราะตอนไถคราด น้ำจะขุ่นเป็นตม แต่เมื่อทิ้งไว้ น้ำก็จะใส การทำนาหว่านน้ำตมของชาวปราจีนบุรีต้องอาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียวจึงต้องรอให้ฝนตก ให้น้ำขังในนาก่อน จึงทำการไถและทำเทือก ชาวนาจะหว่านข้าวงอกทันทีเมื่อทำเทือกเสร็จ แล้วทิ้งให้ตกตะกอน เมล็ดข้าวซึ่งหนักกว่าตะกอนจะตกถึงผิวดินก่อน ส่วนตะกอนก็จะตกลงไปทับเมล็ดข้าวอีกที่หนึ่ง ทำให้น้ำไม่สามารถพัดพาเมล็ดข้าวงอกลอยไปที่อื่นได้ ข้าวที่หว่านน้ำตมนั้นจะต้องแช่น้ำ 1 คืน รุ่งเช้าต้องนำขึ้นจากน้ำ ให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำไปใส่ในกระบุงที่กรุด้วยใบตอง ที่กรุด้วยใบตองเพราะป้องกันไม่ให้รากข้าวชอนไชเข้าไปในกระบุง หลังจากนั้นจึงปิดกระบุงด้วยใบตอง รดน้ำเช้าเย็น ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 คืน ให้ข้าวงอก แล้วจึงนำข้าวงอกไปหว่านในน้ำตมการหว่านนาน้ำตมวิธีนี้เป็นรูปแบบเฉพาะถิ่นในเขตพื้นที่นาที่เป็นดินเปรี้ยวเท่านั้น โดยเฉพาะอำเภอบ้านสร้าง อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอศรีมโหสถ และอำเภอศรีมหาโพธิบางส่วน เพราะถ้าดินไม่เปรี้ยว ถึงแม้
จะปล่อยให้ตกตะกอนน้ำก็ยังคงขุ่นอยู่ ข้าวก็จะเน่า แต่สำหรับในพื้นที่นาดินเปรี้ยวเมื่อปล่อยให้ตกตะกอนเพียง
คืนเดียว น้ำก็จะใสแสงแดดสามารถส่องลงไปถึงพื้นดินได้ แม้ในระดับความลึกถึง 50 ซม. ข้าวก็สามารถงอกได้ 
ข้าวนาน้ำตมให้ผลผลิตมากกว่านาหว่านธรรมดา แต่ก็น้อยกว่านาดำ

ผักกระเฉดชะลูดน้ำ

มีปลูกตลอดปี ในพื้นที่ 50 ไร่ ที่หมู่ที่ 10,15 ตำบลเมืองเก่า อำเภอกบินทร์บุรี เริ่มปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นผักกระเฉดที่มีลักษณะปล้องยาว ชะลูด ไม่มีนม (ปุยขาวที่หุ้มปล้องผักกระเฉด) กรอบ สามารถใช้รับประทานสดๆ แกล้มกับอาหารรสจัด หรือใช้จิ้มน้ำพริก และยังสามารถนำมายำ ผัด หรือ แกงส้มได้อร่อยเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย การปลูกผักกระเฉดชะลูดน้ำนี้ เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่ ดังกล่าวเป็นที่ลุ่ม ในฤดูฝน น้ำจะหลากและท่วมเป็นประจำทุกปี เกษตรกรสังเกตเห็นว่าน้ำที่หลากมาท่วมผักกระเฉดจนมิดยอด ผักกระเฉดจะงอกหนีน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้ยอดที่เจริญขึ้นมาใหม่เป็นยอดอ่อนที่ยาว ไม่อวบ นิ่ม และไม่มีนม จึงเป็นยอดอ่อนที่สะอาด น่ารับประทาน เกษตรกรจึงใช้วิธีนี้มาทำผักกระเฉดชะลูดน้ำ โดยตัดยอดจากแปลงใน
ทุ่งนา มาผูกกับหลักให้จมน้ำจนมิดยอด โดยอาศัยแควหนุมานที่มีน้ำใส ไหลตลอดปีเป็นสถานที่ดำเนินการ

   

เครื่องตำข้าวซ้อมมือ

     

       เครื่องตำข้าวซ้อมมือ และข้าวกล้อง เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านอำเภอบ้านสร้าง คือ นายฉอ้อน 
ทรงเดช ในปีพ.ศ. 2530 เขาได้คิดค้นเอารถไถนาเก่าๆ มาประกอบเป็นกระเดื่องและใช้ล้อขึ้นเหยียบท้ายคันสาก
แทนคนเหยียบ ใช้ยางรถยนต์หุ้มขอบตัวครกไม้ไม่ให้ข้าวหกกระเด็นออก ต่อมามีการดัดแปลงเอาเครื่องกระเทาะข้าวเปลือกมาประกอบระหว่างกลางครกกับเครื่องเพื่อให้สายพานชุดสีในเครื่องเดียวกัน นายฉอ้อน ทรงเดช ได้มีโอกาสตำข้าวซ้อมมือถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จมาทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่
ส่วนพระองค์ที่อำเภอบ้านสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2541 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในกระแสพระราชดำรัส ความตอนหนึ่ง
ว่า "...ข้าวซ้อมมือ หรือข้าวกล้องนี่เรากินทุกวันเพราะว่ามีประโยชน์ ร่างกายแข็งแรงดี ข้าวขาวนี่เอาของดีออกไป
หมด ข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือกินดี คนบอกว่าเป็นข้าวของคนจน เรานี่แหละคนจน..." ทำให้ประชาชนทั่วไป
หันมานิยมบริโภคข้าวกล้องเป็นจำนวนมาก นายฉอ้อน ทรงเดชจึงประกอบอาชีพตำข้าวซ้อมมือและข้าวกล้อง
ต่อมาจนทุกวันนี้ด้วยเครื่องมือที่เขาประดิษฐ์ขึ้น โดยส่งข้าวไปจำหน่ายที่ร้านค้าโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนพระองค์ ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง 
 

เครื่องฝัดข้าว

เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่นายฉอ้อน ทรงเดช คิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยใช้เพลาท่อเก่าๆ ทำเป็นแกนส่งออกให้ห่างตัวเครื่อง แล้วต่อพัดลมเป่าแกลบให้ฝัดข้าวได้ตามต้องการ ทำให้งานตำข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

.........................................................................................................
สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยรามคำแหง
| เกี่ยวกับโครงการ | ผู้ร่วมสนับสนุน | สารสนเทศฯสาขาวิทยบริการฯ | สารสนเทศจังหวัดปราจีนบุรี | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
สารบัญหลัก| ประวัติ แผนที่ | สภาพทั่วไป | สภาพทางสังคม | สภาพทางเศรษฐกิจ | การท่องเที่ยว | ศิลปวัฒนธรรม
โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ | โครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวป่า | บุคคลดีเด่น | เอกสารอ่านเพิ่มเติม | เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง | ค้นหา( ดรรชนีคำ) |