สุภาษิตพระร่วง

          สุภาษิตพระร่วง เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์จารึกลงในแผ่นศิลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสติดไว้กับผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์หลังเหนือ  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร และจดไว้ในสมุดไทยอีกหลายเล่ม 
          สุภาษิตพระร่วงแต่งเป็นคำประพันธ์ ประเภทร่ายสุภาพ ดำเนินตามฉันทลักษณ์อย่างเคร่งครัดทั้งในเรื่องคำในวรรคมีจำนวนคำ 5-6 โดยประมาณสัมผัสเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ กรมศิลปากรได้คัดลอกตรวจสอบแล้วจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 การตรวจสอบนั้นกรมศิลปากรพบว่า แผ่นศิลาจารึกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามซึ่งมีจำนวน 6 แผ่นแต่หายไป 2 แผ่น คือแผ่นที่ 5 กับแผ่นที่ 6 ที่เหลือบางแผ่นอักษรลบเลือนไปบ้างก็มี จึงได้ขอความร่วมมือไปยังงานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ ค้นหาเรื่องสุภาษิตพระร่วงจากสมุดไทย และพบว่ามีอยู่หลายฉบับ สำนวนคล้ายคลึงกันบ้างแตกต่างกันบ้าง และพบสมุดไทยดำเรื่อง บัณฑิตพระร่วงพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จารึกรวมกันอยู่กับเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์และแม่สอนลูก เป็นฉบับที่มีข้อความคล้ายคลึงกับจารึกมาก และมีเรื่องครบถ้วน กรมศิลปากรจึงได้ใช้เป็นเอกสารในการตรวจสอบชำระส่วนที่ยังเหลืออยู่จนสำเร็จบริบูรณ์
          นายธนิต อยู่โพธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรได้เขียนคำอธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง สุภาษิตพระร่วง ฉบับพิมพ์เป็นที่ระลึกในวันสถาปนากรมศิลปากร พ.ศ. 2505 ว่า
                    "สุภาษิตพระร่วง เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า บัญญัติพระร่วง ฉบับที่ตีพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ คัดจาก ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน เล่ม 2 สังเกตจากข้อความและถ้อยคำเห็นได้ว่า เป็นภาษิตไทยแท้ ๆ ใช้ถ้อยคำอย่างพื้น ๆ ยังไม่มีภาษิตต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงปะปน และดูเหมือนจะยังไม่มีอิทธิพลจากภาษิตแบบอินเดีย เช่น คัมภีร์โลกนิติ และพระธรรมบท เป็นต้น เข้าครอบงำ แสดงว่าเป็นภาษิตไทยเก่าแก่ที่ติดปากคนไทยสืบมา และมากลายรูปไปในลักษณะของกวีนิพนธ์แบบต่าง ๆ แทรกอยู่ในวรรณคดีไทยในกาลต่อมา และถ้าพิจารณาตามรูปของวลี จะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงใกล้เคียงกับจารึกในหลักที่ 1 เรียกว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหง จึงอาจเป็นได้ว่า สุภาษิตพระร่วง หรือบัญญัติพระร่วงนี้ เดิมเป็นพระบรมราโชวาท ซึ่งพระร่วงเจ้าพ่อขุนรามคำแหงทรงแสดงสั่งสอนประชาชนชาวไทย…"

          ขอยกคำในสุภาษิตพระร่วง และ คำในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มาให้เห็นเป็นข้อเปรียบเทียบดังนี้

          สุภาษิตพระร่วง "…อย่าขอของรักมิตร ชอบชิดมักจางจาก พบศัตรูปากปราศรัย ความในใจอย่าไขเขา อย่ามัวเมาเนืองนิจ คิดตรองตึกทุกเมื่อ พึงผันเผื่อต่อญาติ รู้ที่ขลาดที่หาญ คบพาลอย่าพาลผิด อย่าผูกมิตรไมตรี เมื่อพาทีพึงตอบ จงนบนอบผู้ใหญ่ ช้างไล่แล่นเลี่ยงหลบ สุวานขบอย่าขบตอบ อย่ากอบจิตริษยา เจรจาตามคดี อย่าปลุกผีกลางคลอง อย่าปองเรียนอาถรรพณ์ พลันฉิบหายวายม้วย อย่ายลเยี่ยงถ้วยแตกมิติด จงยลเยี่ยงสัมฤทธิ์แตกมิเสีย ลูกเมียอย่าวางใจ ภายในอย่านำออก ภายนอกอย่านำเข้า อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจงพอแรง ของแพงอย่ามักกิน อย่ายินคำคนโลภ โอบอ้อมเอาใจคน อย่ายลเหตุแต่ใกล้ ท่านไท้ยออย่าหมายโทษ คนโหดให้เอ็นดู ยอครูยอต่อหน้า ยอข้าเมื่อแล้วกิจ ยอมิตรเมื่อลับหลัง ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ…"

          จารึกหลักที่ 1 "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสามผู้ญิงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก…" และที่ราชบัณฑิตสุโขทัยร้อยกรองต่อว่า "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า …
          ในปี พ.ศ. 2527 อาจารย์นิยะดา เหล่าสุนทรได้เขียนบทความวิชาการเรื่อง "สุภาษิตพระร่วง : การศึกษาเชิงประวัติ" เพื่อใช้ประกอบการประชุมเชิงวิชาการเรื่อง วรรณกรรมเกี่ยวกับโลกศาสตร์และสุภาษิตพระร่วง จัดโดยบัณฑิตวิทยาลัย ภาควิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้
                    "ความคิดที่ว่า สุภาษิตพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ของพระร่วง โดยอาศัยคำว่า
"พระร่วง" เป็นข้ออ้างนั้นดูจะเป็นการรวบรัดพอควร เพราะในวรรณคดีเรื่องอื่นที่มีคำว่า "พระร่วง"
อยู่ในชื่อเรื่องด้วยก็ไม่ได้จำเป็นว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระร่วงเสมอไป ดังเช่น ประดิษฐ์พระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อปีพุทธศักราช 2297-2298 ก่อนหน้านั้นในโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก โคลงพาลีสอนน้อง โคลงทศรถสอนพระราม โคลงราชสวัสดิ์ และโคลงราชานุวรรค ก็มีการอ้างถึงพระร่วง ฉะนั้นการที่มีคำว่า "พระร่วง" อยู่ในชื่อเรื่องนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นพระราชนิพนธ์ของพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยเสมอไป…"
                    "…ในตอนท้ายของ โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ฯ มีความตอนหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้นิพนธ์โคลงขาน พระวิหารทิศอุโบสถ หมดทุกทิศทุกสถาน โวหารกรมนุชิต สฤษฎิทั่วทุกเบื้อง โคลงรามเรืองรูปฉลัก ผู้เฉลงลักษณคารม เมื่อประมวลหลักฐานเข้าด้วยกันแล้ว สุภาษิตพระร่วง ก็ควรจะเป็นพระนิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส…" 
"...ถ้าเป็นไปตามข้อสันนิษฐานข้างต้นที่ว่า สุภาษิตพระร่วง เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ก็คงได้ที่มาของสุภาษิตพระร่วง จากประดิษฐ์พระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดังจะเห็นได้จากการเลียนเนื้อความแทบจะทุกบาททุกบท"
         ต่อมาในพ.ศ. 2541 คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดพิมพ์ ประชุมสุภาษิตพระร่วง เป็นหนังสือเล่มหนึ่งใน ชุดวรรณกรรมภาษิตและคำสอน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมที่มีค่าของชาติให้คงอยู่สืบไป เผยแพร่แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้ศึกษา ให้สาระข้อคิดและแนวทางประพฤติปฏิบัติตนแก่คนทุกเพศทุกวัย 

          ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้เขียนวิเคราะห์ในบทนำเสนอว่า
                    "…สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมี โคลงประดิษฐ์พระร่วง อยู่ก่อนแล้ว และมีข้อความเหมือน ร่ายสุภาษิตพระร่วงฉบับจารึกพระเชตุพน ฯ มาก เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะบอกว่า ร่ายสุภาษิตพระร่วง ฉบับนี้ตัดออกมาจาก โคลงประดิษฐ์พระร่วง หรือในทางกลับกันโคลงประดิษฐ์พระร่วง อาจขยายมาจาก สุภาษิตพระร่วงฉบับดั้งเดิม เราไม่รู้ว่าอะไรมีมาก่อน แต่อย่างน้อยสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (อยุธยาตอนปลาย) ต้องมีสุภาษิตพระร่วงฉบับดั้งเดิมอยู่แล้ว พระองค์อาจจะเก็บสุภาษิตทั่ว ๆ ไป ที่ว่าต่อกันมาด้วยปากมาต่อเป็นโคลงสี่ขึ้นเหมือนอย่างที่ท่านสุนทรภู่เก็บเอาสุภาษิตต่าง ๆ ที่มีอยู่… "

                    "…นายล้อม เพ็งแก้ว พบต้นฉบับร่าย สุภาสิทตัง ที่จังหวัดเพชรบุรี และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ โครงประดิษฐ์พระร่วง แล้ว เทียบได้ตรงกันวรรคต่อวรรค นายล้อมจึงสันนิษฐานว่า โคลงประดิษฐ์พระร่วง น่าจะลอกขยายมาจาก สุภาสิทตัง…อย่างไรก็ดี สุภาสิทตัง เป็นร่ายที่แต่งตามกฎเกณฑ์เคร่งครัด วรรคละ 6 คำ เช่น เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้คิดหาสินต่อใหญ่ อย่าได้ใฝ่เอาสินท่าน จึงน่าจะสรุปได้อย่างเดียวกับ ร่ายสุภาษิตพระร่วง ว่า แต่งขึ้นตามกฎเกณฑ์ที่แต่งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์…"
          ในหนังสือ อนุสรณ์อายุครบเจ็ดสิบห้า (นายอุดม หงสะเดช) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2524 นายเปลื้อง ณ นคร ได้นำสุภาษิตพระร่วง 3 สำนวนคือ กาพย์สุภาษิต 1 สำนวน (กาพย์สุภาษิตพระร่วง จากหนังสือสุภาษิตสอนเด็ก โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ วัดเกาะ) ร่าย 2 สำนวน คือ ร่ายสุภาษิตพระร่วง จากหนังสือสุภาษิตสอนเด็ก โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ วัดเกาะ และร่ายสุภาษิตพระร่วง คัดจากจารึกวัดพระเชตุพน ฯ มารวมพิมพ์ไว้
          นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ สุภาษิตพระร่วงคำโคลง เป็นโคลงสี่สุภาพขยายความ สุภาษิตพระร่วงของเก่าออกให้ละเอียด และเข้าใจง่าย ตีพิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิต 
          ในปี พ.ศ. 2542 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์หนังสือ ประชุมสุภาษิตพระร่วง โดยรวบรวม สุภาษิตพระร่วง 6 สำนวนจัดเรียงตามลำดับการพิมพ์ดังนี้ คือ ร่ายสุภาษิตพระร่วง ฉบับจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส, โคลงประดิษฐ์พระร่วง ฉบับพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ, ร่ายสุภาษิตพระร่วง ฉบับวัดเกาะ สำนวนร่าย, สุภาษิตพระร่วงคำโคลง ฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ร่ายสุภาสิทตัง ฉบับวัดลาด อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี, กาพย์สุภาษิตพระร่วง ฉบับวัดเกาะ สำนวนกาพย์