เครื่องสังคโลก

 

          สังคโลก เป็นเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี มีการเคลือบผิวและตกแต่งลวดลายงดงาม เผาด้วยความร้อนสูงมากประมาณ 1,150-1,280 องศาเซลเซียส เตาเผาและเทคนิคการเผาได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยต้นกรุงสุโขทัยจนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่มีเตาเผาปรากฏอยู่ที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และริมแม่น้ำน้อย อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
          รูปแบบของสังคโลกมีหลากหลายอันเนื่องมาจากเทคนิคการตกแต่งทั้งการเคลือบและลวดลายต่าง ๆ กัน ดังนี้

  • เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ แต่ประดับลวดลายด้วยการใช้แม่พิมพ์กดลวดลายประทับ เช่น ลายก้านขด หรือลายเรขาคณิต นอกจากนี้ก็มีการประดับด้วยวิธีการปั้นดิน แล้วแปะติดเข้ากับภาชนะก่อนเข้าเตาเผา เข้าใจว่าเป็นแบบดั้งเดิมที่มีมาก่อนและทำสืบต่อมาในระยะหลังด้วย

  •  เครื่องถ้วยเคลือบสีน้ำตาลเข้มเป็นการเคลือบสีพื้นสีเดียว ลักษณะรูปแบบและสีน้ำเคลือบคล้ายกับเครื่องถ้วยลพบุรีประเภทเคลือบสีน้ำตาล

  • เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายใต้เคลือบสีน้ำตาล มีลักษณะคล้ายเครื่องถ้วยจีนจากเตาสือโจ้ว กับเครื่องถ้วยอันหนานของเวียดนาม

  • เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายบนเคลือบสีน้ำตาลทอง

  • เครื่องถ้วยเนื้อดินแกร่งกึ่งสโตนแวร์ไม่เคลือบแต่ชุบน้ำดิน แล้วเขียนลวดลายด้วยสีแดง

  • เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวไข่กา หรือเซลาดอน (celadon) ตกแต่งลวดลายด้วยการขูดและขุดลายในเนื้อดิน แล้วเคลือบทับ ประเภทนี้คล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยจีนจากเตาหลงฉวน สมัยราชวงศ์ซ้องตอนปลายถึงราชวงศ์หยวน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20

  • เครื่องถ้วยดินเผา หรือตากให้แห้งแล้วนำสลิปน้ำดินขาวทาทับอย่างหนา ๆ สลักลายเบา แล้วจึงนำเข้าเตาเผา

          การผลิตเครื่องสังคโลกในช่วงแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อประโยชน์ใช้สอย และค้าขายในชุมชนและหัวเมืองใกล้เคียง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 ชาวศรีสัชนาลัยสามารถสร้างเตาที่ใช้เผาเครื่องสังคโลกคุณภาพดี และดำเนินการผลิตจนสามารถส่งออกขายอย่างแพร่หลายในตลาดต่างแดนได้ในพุทธศตวรรษที่ 20-22 ราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีการค้นพบคำคำหนึ่งในบันทึกของชาวญี่ปุ่น คือคำว่า ซันโกโรกุ (sunkoroku) เข้าใจว่าเป็นคำที่คนญี่ปุ่นพยายามออกเสียงโดยหมายถึง สวรรคโลก (แหล่งหรือเตาเผาที่เมืองศรีสัชนาลัย เดิมเรียก สวรรคโลก) ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นคำว่า สังคโลก โดยคนสยามอีกทีหนึ่ง เครื่องสังคโลกตามเหตุผลนี้จึงหมายถึง เครื่องปั้นดินเผาทุกชนิดที่ผลิตในแคว้นสุโขทัย กลุ่มผู้ซื้อไม่ว่าในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ ต่างก็รู้จักกันในชื่อนี้ทั้งสิ้น

          เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องสังคโลกที่สำคัญ พบเตาจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำยม ส่วนมากเป็น "เตาประทุน" หรือเตาชนิดระบายความร้อนผ่านในแนวนอน กลุ่มเตาที่สำคัญสองกลุ่มคือ กลุ่มเตาบ้านเกาะน้อย และกลุ่มเตาบ้านป่ายาง ในพุทธศตวรรษที่ 20 เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัยเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมของท้องตลาด การผลิตสังคโลกในบริเวณศรีสัชนาลัยดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรม โดยมีอาณาจักรอยุธยาซึ่งมีอิทธิพลด้านการเมืองเหนือสุโขทัยและศรีสัชนาลัยดำเนินธุรกิจในฐานะรัฐที่เป็นพ่อค้าคนกลางนำใส่เรือสำเภาออกไปขายตามเมืองท่าทั้งในประเทศและ นอกประเทศ บันทึกการสั่งสินค้าของพ่อค้าฝรั่งชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัยยังคงเป็นสินค้าที่ยังเป็นที่นิยมอยู่ โดยเห็นได้จากจดหมายเกี่ยวกับการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในปีพุทธศักราช 2157 กล่าวถึงความต้องการซื้อเครื่องถ้วยชามสังคโลกของพ่อค้าฮอลันดา และกล่าวถึงความนิยมของชาวญี่ปุ่นว่า ต้องการเครื่องสังคโลกของไทย

          สังคโลกหยุดการผลิตไประยะหนึ่ง จนกระทั่งปลายศตวรรษ 1960 ได้มีการฟื้นฟูสังคโลกครั้งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบล้านนาที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง ปัจจุบันมีเครื่องสังคโลกสมัยใหม่ที่รู้จักกันในนาม ศิลาดล ชามตราไก่ ในรูปของภาชนะแบบต่าง ๆ

         เครื่องสังคโลกของสุโขทัยนับวันจะหายากยิ่งขึ้น ราคาบางชิ้นซื้อขายกันนับสิบล้านบาท และมีแนวโน้มว่าไปอยู่ในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย ผู้ที่มีส่วนสืบสานการทำเครื่องสังคโลกแบบโบราณ คือ คุณสมเดช พ่วงแผน คุณลุงแฟง พรมเพ็ชร และคุณสุเทพ พรมเพ็ชร    ประมาณ พ.ศ. 2520 คุณสมเดช พ่วงแผนและพี่ชายคือ คุณประจวบ พ่วงแผน ได้ศึกษาเรื่องดิน น้ำเคลือบ การเผา จนมีความรู้และสามารถทำเครื่องสังคโลกได้ และได้สร้างพิพิธภัณฑ์เปิดชื่อ อาณาจักรพ่อกู สังคโลก จัดแสดงเครื่องสังคโลกโบราณที่สะสมไว้ให้ผู้สนใจเข้าชม พร้อมทั้งผลิตเครื่องสังคโลกเลียนแบบโบราณ เครื่องสังคโลกรูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช้เป็นของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ ผลงานใน อาณาจักรพ่อกู สังคโลก มีสังคโลกจำลองมากมาย สิ่งที่คุณสมเดชภาคภูมิใจมากก็เพราะงานที่ผลิตออกไปทุกชิ้นถือว่าเป็นงานศิลปะมีชิ้นเดียวไม่ซ้ำกัน ขณะที่คุณลุงแฟง พรมเพ็ชรและบุตรชายคือ คุณสุเทพ พรมเพ็ชร ชาวบ้านอำเภอศรีสัชนาลัยก็ได้ริเริ่มทำสังคโลกเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยทำเครื่องสังคโลกแบบโบราณเช่นกัน ทั้งยังออกแบบผลิตเครื่องสังคโลกเป็น ถ้วยชาม ของที่ระลึกที่สวยงามและทรงคุณค่ายิ่ง เครื่องสังคโลกแบบของโบราณของคุณลุงแฟงมีความงดงามประณีตมาก ในการประกวดเครื่องสังคโลกซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 ผลงานของคุณลุงแฟงได้รับรางวัลดีเด่นและได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบันคุณสุเทพ พรมเพ็ชรและครอบครัวเป็นผู้สืบทอดการทำเครื่องสังคโลกต่อมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานของสุเทพสังคโลก มีทั้งที่เป็นถ้วยกาแฟ ชาม จานที่ระลึก ตุ๊กตารูปต่าง ๆ ฯลฯ เป็นที่นิยมชื่นชอบทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ สิ่งที่ภาคภูมิใจของคุณสุเทพ พรมเพ็ชรคือได้ปั้นจานสังคโลกขนาด 9 นิ้วเพื่อให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบวาระสามทศวรรษมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นที่ 27 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2545

 

          เป็นที่น่ายินดีว่า เครื่องสังคโลกในวันนี้ยังทรงคุณค่าอมตะแห่งภูมิปัญญาไทยกว่า 700ปีและเป็นที่ชื่นชอบนิยมศึกษาอย่างลึกซึ้งในแง่โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั้งในสถาบันการศึกษาของไทยและต่างประเทศ การประชุมนานาชาติครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 คือ การประชุมนานาชาติในหัวข้อ "สังคโลก-สุโขทัย -อยุธยา-กับ เอเชีย (Sangkhalok-Sukhothai-Ayutthaya and Asia)" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศูนยย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาสังคโลกนั้น ได้รับความสนใจอย่างมากมาย มีผู้เข้าประชุมหลากหลายทั้งที่เป็นคณาจารย์ ภัณฑารักษ์ บรรณารักษ์ นักวิทยาศาสตร์และผู้ประกอบการผลิตเครื่องสังคโลกในปัจจุบัน นักศึกษาที่ทำวิจัยเรื่องเครื่องสังคโลกระดับปริญญาเอก และปริญญาโท ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้รู้ นักสะสมมืออาชีพ นักสะสมรุ่นใหม่และรักในความงดงามของเครื่องสังคโลก

           อนาคตของเครื่องสังคโลกที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจะกลับพลิกฟื้นทั้งในด้านรูปแบบ การผลิต การส่งออกหรือไม่นั้น ก่อนอื่นต้องอยู่ที่คนไทยเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทยด้วยกัน ช่วยกันศึกษาค้นคว้า ถ่ายทอดทั้งความรู้ด้านวิชาการ สืบสานการผลิตในภาคปฏิบัติ ส่งเสริมการตลาดให้แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วยกันริเริ่มสนับสนุนใช้เครื่องสังคโลกของไทย การพลิกฟื้นชื่อเสียงและคุณค่าของเครื่องสังคโลกไทยย่อมเป็นจริงไปได้อย่างแน่นอน