เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง

         เครื่องปั้นดินเผาของชาวทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศในปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่าในอดีต จากรูปแบบดั้งเดิมที่ปั้นโอ่งไว้ใช้และจำหน่าย ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นกระถางปลูกต้นไม้ แจกัน โคมไฟ กระปุกออมสิน รูปสัตว์ต่าง ๆ ของตั้งโชว์ เป็นต้น การตกแต่งภาชนะใช้วิธีพิมพ์ลายเป็นส่วนใหญ่ โดยจะใช้ไม้สลักหรือไม้เนื้ออ่อน เขียนลวดลาย นำไปกดบนภาชนะให้เป็นลวดลาย เมื่อปั้นเสร็จใหม่ ๆ นอกจากนี้ก็มีการฉลุลายเป็นลายโปร่ง การเผาจะเป็นการเผาแบบโบราณ คือการเผาแบบเตาสุม ก่อนเผานำภาชนะที่เผาไปผึ่งแดดไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมงให้แห้ง เพื่อให้ภาชนะที่เผามีสีสวยงาม การเผาจะเผาทิ้งไว้ข้ามคืน รุ่งเช้าจึงจะนำเครื่องปั้นหรือภาชนะนั้นออกมาจากเตาเผา 

         ศิลปินพื้นบ้านที่ทำชื่อเสียงให้เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงโด่งดังเป็นที่สนใจของประชาชนคือ คุณยายตี๋ เฮงสกุล หลังจากที่คุณยายตี๋ได้รับรางวัลดีเด่นในงานประกวดการแสดงศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อพ.ศ. 2527 ทำให้งานเครื่องปั้นดินเผาของคุณยายตี๋ขายได้อย่างจริงจัง แม้คุณยายตี๋ เฮงสกุลจะถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังมีผู้สืบสานศิลปะการปั้นเครื่องปั้นดินเผาอำเภอทุ่งหลวงต่อไป เช่น คุณยายเนี้ยว ทองดี น้องสาวคุณยายตี๋ และชาวบ้านท่านอื่น ๆ เช่น คุณเฉลา อยู่กลัด ผู้ปั้นผลงานนางกวัก พระอภัยมณี นางเงือก หัวพญานาค ฯลฯ