บทบาทของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการมรดกโลก

         เมื่อพ.ศ. 2530 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีใน "อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก" โดยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการมรดกโลกเป็นประจำทุกปี เพื่อรับทราบแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกโลกในระบบสากล และจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาครั้งที่ 7 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ณ องค์การยูเนสโก ประเทศฝรั่งเศส ประเทศไทยก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งมีทั้งหมด 21 คน จาก 21 ประเทศ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ศาสตราจารย์ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ ผู้แทนจากประเทศไทย(ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก) ก็ได้รับเลือกเป็นรองประธานคณะกรรมการกลาง

         หลังจากที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับดังกล่าวอย่างสมบูรณ์แล้ว ในปี พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ประเทศไทยเสนอรายชื่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและ ธรรมชาติ เพื่อขอขึ้นบัญชีมรดกโลกจำนวนทั้งสิ้น 6 แห่ง ได้แก่

แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม

(1) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

(2) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร

(3) อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

แหล่งมรดกทางธรรมชาติ

(1) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

(2) อุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะตะรุเตา

(3) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

          จากการเสนอรายชื่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติแล้วนั้น คณะกรรมการมรดกโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และศักยภาพของแหล่งมรดกโลกทั้ง 6 แห่ง ซึ่งในที่สุดแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 2 แหล่ง และมรดกทางธรรมชาติ 1 แหล่ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในบัญชีรายชื่อมรดกโลกเมื่อพ.ศ. 2534 คือ

1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร

2) อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

3) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

และในปีต่อมา พ.ศ. 2535 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของไทย คือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงก็ได้รับการคัดเลือกขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อมรดกโลกอีกแหล่งหนึ่ง

คุณสมบัติของแหล่งมรดกโลกของไทยทั้ง 4 แหล่งที่ได้รับการคัดเลือกมีดังนี้

  • อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ผ่านเกณฑ์การพิจารณา 2 ข้อ คือ ข้อหนึ่ง มีซากของโบราณวัตถุที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ ที่มีความเป็นเลิศในด้านสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์ของคนไทยในอดีตและข้อสอง เป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งเรืองของอารยธรรมในอดีต นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมสยามยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดการสร้างประเทศ

  • อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ผ่านเกณฑ์การพิจารณา 1 ข้อคือ เป็น ท ประจักษ์พยานถึงความรุ่งเรืองในอดีต เป็นแหล่งรวมศิลปกรรมอันทรงคุณค่า เป็นตัวแทนถึงความเป็นเยี่ยมในการสร้างสรรค์งานศิลปะ และแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ต่อเนื่องทางสถาปัตยกรรมไทย

  • เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผ่านการพิจารณาถึงเกณฑ์ 3 ข้อด้วยกัน คือ ข้อหนึ่ง มีความดีเด่นเป็นเลิศในด้านวิวัฒนาการทางชีวภาพเป็นพิเศษของโลก เพราะประกอบด้วยระบบนิเวศวิทยาทั้ง 4 ภูมิภาค คือ ภูมิภาคซุนเดอิก (Sundaic) ภูมิภาคอินโด-เบอร์มิส (Indo-burmese)ภูมิภาคอินโดไชนิส (Indo-chinese) และภูมิ ภาคไซโน-หิมาลายัน (Sino-Himalayan) ข้อสอง เป็นแหล่งธรรมชาติพิเศษที่เป็นต้นน้ำที่สำคัญหลายสายของไทย มีป่าไม้นานาชนิด ประกอบด้วยเทือกเขา ตลอดจนทุ่งหญ้า ลักษณะทั้งหมดมีคุณค่าในด้านวิทยาศาสตร์ และมีความงดงามทางธรรมชาติที่หาได้ยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และข้อสาม เป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์หลากชนิด โดยมีสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธ์ถึง 28 ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 15 ชนิด นก 9 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานอีก 4 ชนิด

  • แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติที่สะสมสืบทอดมายาวนาน และเป็นแหล่งที่มีโบราณวัตถุอันแสดงถึง วัฒนธรรมอันเก่าแก่อย่างเห็นได้ชัดเจนและสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งวัฒนธรรม และวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีมากกว่า 5,000 ปี ซึ่งปรากฏกระจายอยู่ทั่วไปในแถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

         นอกจากนี้ยังมีแหล่งมรดกไทยแห่งอื่นๆ ที่มีคุณค่า ซึ่งถ้าได้ทำการศึกษาในรายละเอียดแล้ว อาจนำเสนอเข้าในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ได้เช่น

แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม

1. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

2. อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา

3. วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

4. พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร

5. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร

6. พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี

7. พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

8. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี

9. แหล่งศิลปะภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี

10.พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี

11. พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

12. พระที่นั่งอนันตสมาคม กรุงเทพมหานคร

13. พระที่นั่งวิมานเมฆและบริเวณโดยรอบ กรุงเทพมหานคร

แหล่งมรดกทางธรรมชาติ

1. เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย

2. อุทยานแห่งชาติทางทะเล หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา .

3. อุทยานแห่งชาติแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย

4. อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

5. อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

         ข้อมูลจากองค์การยูเนสโกในปัจจุบัน (เดือนธันวาคม พ.ศ. 2544) มีบัญชีมรดกโลกรวมทั้งสิ้น 690 แห่งที่มีคุณค่าความเป็นสากลอย่างเด่นชัด ในจำนวนสถานที่เหล่านี้เป็นมรดกด้าน วัฒนธรรม 529 แห่ง มรดกด้านธรรมชาติ 138 แห่ง และเป็นแหล่งผสมระหว่างวัฒนธรรมกับ ธรรมชาติอีก 23 แห่ง แม้ว่าจะมีความพยายามให้เกิดดุลยภาพและให้เป็นตัวแทนจริงๆ ในบัญชีชื่อมรดกโลกแล้วก็ตาม แต่ถึงกระนั้นบัญชีชื่อนี้ก็ยังให้น้ำหนักอย่างมากแก่สถาปัตยกรรมแห่งอนุสรณ์สถานและศาสนาทางยุโรปตะวันตก ในภายภาคหน้าควรจะมีสถานที่จากประเทศในเครืออาหรับ จากภาคพื้นแปซิฟิกและจากแอฟริกาเพิ่มเติมเข้ามามากขึ้น

          ส่วนหนึ่งของมรดกโลกกำลังถูกคุกคามอยู่ในขณะนี้และการที่จะให้คงอยู่ตลอดไปได้นั้นจะต้องใช้ทั้งฝีมือและความรอบรู้ ปัญหาท้าทายนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ การกระทบกระทั่งกันทั้งทางด้านทหารและพลเมืองก็ดี ความเจริญเติบโตของการท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะก็ดี ตลอดจนถึงการพัฒนาที่ขาดการควบคุมและการวางแผนที่ไม่เหมาะสม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ การปกป้องสถานที่ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่โดดเด่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกต้องประสบ กับความยากลำบาก เมื่อได้ตระหนักถึงคุณค่าล้ำเลิศของมรดกโลกแล้ว ขอให้พวกเราหวนระลึกถึงความรุ่งเรืองสดใสของมรดกร่วมนี้ แล้วร่วมกันจะโดยส่วนตัว หรือเป็นหมู่คณะก็ตามที่จะปกปักรักษามรดกของชาติไทย… มรดกโลก… มรดกแห่งมนุษยชาติให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์