ระบำศรีสัชนาลัย

          เป็นระบำที่วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัยคิดประดิษฐ์ขึ้น โดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอันได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เจดีย์ราย วัดเจดีย์เจ็ดแถว ภาพแกะสลักบานประตูไม้ประดับวัดมหาธาตุ เมืองเชลียง ลวดลายปูนปั้นพระโพธิสัตว์ เป็นรูปนางอัปสรแสดงท่าร่ายรำประดับยอดซุ้ม ประตูวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระปรางค์) ตุ๊กตาสังคโลกแบบต่าง ๆ ลักษณะท่าร่ายรำของระบำชุดนี้จะโน้มเอียงไปทางศิลปะการร่ายรำแบบเขมรหรือขอม เพราะตามหลักฐานทางโบราณคดีนั้นพบว่า ศิลปะสมัยศรีสัชนาลัยเป็นศิลปะที่นิยมแบบเขมร

          เครื่องแต่งกายของระบำศรีสัชนาลัย ผู้แสดงจะสวมเสื้อแขนสั้นแนบเนื้อสีชมพู นุ่งผ้านุ่งสีม่วงตัดเย็บให้แหวกได้ตรงกลางโดยสอดซับพลีทสีชมพูอ่อนไว้ด้านใน ตัวผ้านุ่งด้านหน้าจับจีบพับเป็นหลาย ๆ ชั้น โดยใช้สีด้านในผ้านุ่งเป็นสีทอง รัดเอวเพื่อเน้นทรวดทรง ใส่ห้อยหน้าปักลวดลายแบบสุโขทัย สวมกรองคอ พาหุรัด ทองพระกรและต่างหูเป็นเกลียวยาว ศีรษะสวมชฎาหรือเทริด ยอดชฎาทำเป็นรูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำตามแบบเจดีย์วัดช้างล้อมกลางเมืองศรีสัชนาลัย

          เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบด้วย กระจับปี่ ซอสามสาย ปี่ใน ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน ฉิ่ง กรับ และโหม่ง ทำนองเพลงประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดยอาจารย์บัณฑิต ศรีบัว อาจารย์ประจำหมวดวิชาเครื่องสายไทย ภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย เป็นเพลงอัตรา 2 ชั้น และชั้นเดียวตามแบบเพลงระบำทั่วไป ลีลาเพลงมีลักษณะนุ่มนวลอ่อนโยนและเยือกเย็น