ต้นไม้ประจำจังหวัด

ชื่อพรรณไม้ 
 
ตาลโตนด
 
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ 
Borassus flabellifer  Linn.
ลักษณะ 
 











เป็นพืชที่มีลำต้นสูง บางท้องที่สูงถึง 30 เมตร ในอินเดีย เมื่อครั้งพุทธกาล ยังใช้ความสูงของต้นตาลเป็นมาตรวัดความสูง เช่น เปรตสูงเท่าต้นตาล หรือในทางพุทธศาสนา มีการพูดถึงบุคคลที่ไม่สร้างความเจริญงอกงาม ไม่มีคุณค่าอะไร เปรียบบุคคลนั้นว่าเหมือนตาลยอดด้วน เพราะถ้ายอดต้นตาลด้วนจริง ๆ ต้นตาลนั้นก็ตายได้ เนื้อไม้ตาลมีเสี้ยนแข็งมาก ต้นตาลตัวเมียมีเนื้อไม้ดีกว่าต้นตาลตัวผู้ ต้นหนึ่งมีจำนวนใบประมาณ 25-40 ใบ แต่ละใบ กว้างประมาณ 2-3 เมตร มีรูปร่างแบบพัด กาบใบมีสีเหลืองปนม่วงปนเขียว และมีหนามอยู่ตามบริเวณขอบใบ เมื่อต้นตาลอายุยังน้อยอยู่ จะมีกาบใบหุ้มลำต้นอยู่ทั่วไป เมื่ออายุมากขึ้น ใบที่อยู่ล่างสุดจะเริ่มแห้งและหลุดร่วงในเวลาต่อมา ปรากฏเป็นรอยแผลอยู่ตามบริเวณของลำต้นตาลที่มีอายุมาก ดอกของตาลจะทยอยบานจากส่วนล่างของงวงขึ้นไป ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อดอกยาว ประกอบด้วยช่อดอกเล็ก ๆ ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร ช่อดอกเพศเมียจะใหญ่กว่าช่อดอกเพศผู้ แต่จะให้ปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า ระยะเวลาการเกิดช่อดอก จนกระทั่งผลิตผลได้สมบูรณ์ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน 
คุณประโยชน์ 






ไม้ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน หรือใช้แกะสลัก เนื้อไม้ตาลมีความแข็งทำให้อายุการใช้งานนาน น้ำตาลที่ทำจากงวงตาลต้องมาจากต้นตาลที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ผลแก่ของตาลใช้เผาเป็นถ่านเพื่อใช้หุงหาอาหารได้ เนื้อใช้ทำขนมตาล ใบตาลใช้มุงหลังคา ยอดอ่อนของต้นตาลที่โค่นนำมาแกง หรือต้มกระทิได้ 
       คนมอญนิยมปลูกต้นตาลไว้รอบบ้าน บางคนจะปลูกต้นตาลทุกปี เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำรองและหารายได้ การปลูกต้นตาลตามหัวไร่ ปลายนามีส่วนช่วยให้มีการปรับปรุงสภาพดินดีขึ้น