ประวัติ
     
นายสำเนา จันทร์จรูญ เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481
       ณ บ้านเลขที่ 20 ตำบลวังลึก อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย 
       เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง รวม 4 คน 
       อาจารย์สำเนาประกอบอาชีพรับราชการครูตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ระดับ 6 
       โรงเรียนวัดหนองรั้งเหนือ สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา อำเภอศรีสำโรง 
       สำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสุโขทัย 

 

 

      การศึกษา

          อาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ เริ่มเข้าศึกษาความรู้สามัญจนจบชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดโพธาราม (บุญมาก พิทยาคาร) อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลกจนได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิต 

      การทำงาน

          อาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ เริ่มรับราชการเมื่อ พ.ศ. 2501 ณ โรงเรียนบ้านนา ขุนไกร อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เนื่องจากโรงเรียนที่สอนอยู่ห่างจากอำเภอศรีสำโรงประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร เด็กๆ นักเรียนต้องเดินทางมาเรียนไกลมาก เมื่อมาถึงโรงเรียนก็จะเหน็ดเหนื่อยและหงอยเหงาไม่รื่นเริง อาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ จึงคิดหาทางให้เด็กๆ ได้สนุกสนาน จึงให้เด็กๆ ได้มีโอกาสร้องรำทำเพลงโดยร้องเพลงรำวงบ้าง เพลงพื้นเมืองบ้างซึ่งช่วยให้เด็กเกิดความสนุกสนานไม่ขาดโรงเรียน 

          อาจารย์สำเนา จันทร์จรูญมีความสามารถในการประดิษฐ์ท่ารำต่างๆ และมีความสามารถพิเศษในการร้องเพลงพื้นเมืองของสุโขทัย รวมตลอดจนถึงการประดิษฐ์และจัดดอกไม้สด ดอกไม้แห้งและงานดอกไม้ใบตองต่างๆ อีกด้วย ครอบครัวของอาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ ล้วนเป็นศิลปินเกือบทั้งสิ้นทั้งทางด้านละคร การร้องรำ การเล่นลิเก ละครปี่พาทย์ กลองยาว ฯลฯ อาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ ได้รับการสอนและฝึกปรือมาแต่วัยเยาว์ จนทำให้สามารถรวบรวมการละเล่นพื้นเมืองของสุโขทัยไว้ได้ 

          อาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ เริ่มงานด้านนาฏศิลป์ โดยเป็นผู้ฝึกหัดคณะครูในโรงเรียนกลุ่มเกาะตาเลี้ยง แสดงละครเรื่องพระสมุทร เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารเรียนโรงเรียนบ้านหนองกระดี่ (บางประชาสรรค์) จากนั้นก็ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในการอบรมดนตรี - นาฏศิลป์ เรื่อยมา นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มฝึกหัดกลุ่มหนุ่ม-สาว ในหมู่บ้านแสดงกลองยาว เพื่อช่วยเหลืองานต่างๆ ของชุมชนในอำเภอศรีสำโรง ที่สำคัญคือ ได้รับมอบหมายจากทางอำเภอศรีสำโรงให้เป็นผู้ฝึกหัดครูหนุ่ม ครูสาว แสดงกลองยาว ในงานพระแม่ย่า ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดสุโขทัย นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว อาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ ยังได้รับเชิญจากคณะกรรมการจัดงานและผู้สนใจในจังหวัดต่างๆ ให้นำศิลปะการแสดงกลองยาวไปสาธิตและเข้าร่วมงานในกรณีที่มีการประกวดการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านอยู่เป็นเนืองนิจ คณะกลองยาวภายใต้การนำของอาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ ใช้ชื่อว่า "คณะจันทร์ทรงกลด" ได้รับการกล่าวขานเผยแพร่ไปในจังหวัดต่างๆ นอกเหนือจากจังหวัดสุโขทัย อย่างมากมาย อาทิ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ตลอดจนกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2530 อาจารย์ได้ประดิษฐ์ดนตรีเกราะโปง เข้าประกวดในงานวันประถมศึกษาแห่งชาติ ของจังหวัดสุโขทัย ได้รับรางวัลที่ 1

          จากการที่อาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ เป็นผู้ที่ศึกษาค้นคว้าด้านการละเล่นพื้นเมืองของจังหวัดสุโขทัยมาโดยตลอด ทำให้อาจารย์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดทำคู่มือการสอนวิชาชีพ ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ.2521 หมวดดนตรีและนาฏกรรม วิชากลองยาว เป็นผู้รวบรวมและอนุรักษ์ ส่งเสริมพัฒนา และสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวัฒนธรรมการเล่นพื้นเมืองจังหวัดสุโขทัย อาทิ มังคละพื้นบ้านสุโขทัย กลองยาว ฉุยฉายเข้าวัด รำวงแบบบท เพลงพิมเพเล (เพลงฮินรินเล) เพลงคล้องช้าง เพลงกล่อมเด็ก การเข้าทรงนางด้ง ฯลฯ

      ผลงาน

                    1. เป็นหัวหน้าวงกลองยาว " จันทร์ทรงกลด " ได้นำศิลปะการแสดงกลองยาวของจังหวัด สุโขทัยไปเผยแพร่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง 

                    2. เป็นวิทยากรในการถ่ายทองการแสดงพื้นเมืองให้แก่ วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย และ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย เป็นวิทยากรในการอบรมครูผู้สอนดนตรี และนาฏศิลป์ของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสุโขทัย สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอศรีสำโรง และสำนักงานการ ประถมศึกษาอำเภอศรีสัชนาลัย 

                    3. เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงการเล่นกลองยาว มังคละ และเพลงพื้นเมืองของ จังหวัดสุโขทัยให้แก่นักศึกษาสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ มหาวิทยาลัย นเรศวร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ในการจัดทำศิลปนิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ 

      ผลงานด้านวิชาการ 

                    1. ได้รับเชิญจากสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเขตการศึกษา 7พิษณุโลก ให้เป็นผู้เขียนและจัด ทำคู่มือการสอนวิชาชีพตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. 2521 หมวดดนตรีและนาฏศิลป์ วิชากลองยาว (ดก.ท.024) พร้อมทั้งจัดทำจุลสารประกอบการ เรียนวิชาชีพ 

                    2. เป็นผู้รวบรวมการเล่นพื้นเมืองของจังหวัดสุโขทัย 

                    3. ได้รับแต่งตั้งจากสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสุโขทัยให้เป็นผู้จัดทำแผนการสอน วิชาดนตรีนาฏศิลป์ ชั้นประถมปีที่ 4 - 6 

                    4. เป็นผู้คิดประดิษฐ์จัดทำดนตรีเกราะโปงเข้าประกวดในงานวันประถมศึกษาแห่งชาติ ของจังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 และได้รางวัลที่ 1 พร้อมกันนี้ยังได้ ประดิษฐ์ท่ารำ ' รำเกราะโปง' ให้แก่ วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัยแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ ที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองเก่าเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินยัง จังหวัดสุโขทัย 

                    5. เป็นผู้เขียน " มังคละพื้นบ้าน " ของสารานุกรมภาคกลาง 

                    6. เป็นต้นแบบการจัดทำสื่อวีดิทัศน์นาฎศิลป์ของ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสุโขทัย 

                    7. เป็นต้นแบบการจัดทำสื่อวีดีทัศน์ " กลองยาวสุโขทัย " ของสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเขตการศึกษา 7 พิษณุโลก 

      เกียรติยศที่ได้รับ 

                    1. ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ปี พ.ศ. 2532 สาขา ศิลปะ (ดนตรีและนาฏศิลป์) 

                    2. เป็นผู้สอนจริยธรรมดีเด่น ของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสุโขทัย ปี พ.ศ. 2539 

                    3. ได้รับโล่รางวัลชนะเลิศการประกวดกลองยาวแห่งประเทศ ปี พ.ศ. 2528 และได้รับถ้วย รางวัลพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

                    4. ได้รับโล่รางวัลการประกวดกลองยาวในงานพระแม่ย่า จังหวัดสุโขทัย 3 ปีซ้อน 

                    5. ได้รับโล่รางวัลในการประกวดกลองยาวสงกรานต์ ของจังหวัดพิษณุโลก 3 ปีซ้อน