ศิลาจารึกนี้แม้มีเนื้อความสั้นเพียง 124 บรรทัด แต่บรรจุเรื่องราวที่อุดมด้วยคุณค่าทางวิชาการหลายสาขา ทั้งในด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐกิจสังคม ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี ศาสนา และจารีตประเพณี ด้านนิติศาสตร์ ศิลาจารึกหลักนี้อาจถือว่า เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญเทียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษ มีการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรักษาสิทธิมนุษยชน เห็นได้จากข้อความที่กล่าวถึง มีการคุ้มครองเชลยศึก นอกจากนี้ ยังมีข้อความเสมือนเป็นบทบัญญัติในกฎมณเฑียรบาลและบทบัญญัติในกฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัวและมรดก ตลอดจนการพิจารณาความแห่งและอาญา

           ด้านนิติศาสตร์ 

          ศิลาจารึกหลักนี้อาจถือว่า เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญเทียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษ มีการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรักษาสิทธิมนุษยชน เห็นได้จากข้อความที่กล่าวถึง มีการคุ้มครองเชลยศึก นอกจากนี้ ยังมีข้อความเสมือนเป็นบทบัญญัติในกฎมณเฑียรบาลและบทบัญญัติในกฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัวและมรดก ตลอดจนการพิจารณาความแพ่งและอาญา 

           ด้านรัฐศาสตร์ 

          ศิลาจารึกหลักนี้ได้กล่าวถึงความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์กับประชาชนว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดให้ข้าราชบริพารเข้าเฝ้าปรึกษาราชการได้ทุกวัน ยกเว้นวันพระ และเปิดโอกาสให้ราษฎรมาสั่นกระดิ่งเพื่ออุทธรณ์ฎีกาได้ทุกเมื่อ

           ด้านเศรษฐกิจ 

          ข้อความที่จารึกไว้ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในสมัยสุโขทัยนั้น มีความมั่นคงมาก นอกจากนี้ยังมีการชลประทาน การเกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ และการค้าขายก็ทำโดยเสรี

           ด้านประวัติศาสตร์ 

          ศิลาจารึกหลักนี้ช่วยให้เราได้ทราบถึงประวัติความรุ่งเรืองชองชาติไทยในยุคสุโขทัย และประวัติเรื่องราวอื่นๆ เช่น ประวัติราชวงศ์สุโขทัย ประวัติการรวบรวมอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่น ประวัติการค้าโดยเสรี ประวัติการสืบสร้างพระพุทธศาสนา และการประดิษฐ์ลายสือไทย 

           ด้านภูมิศาสตร์ 

          ศิลาจารึกหลักนี้ได้ระบุอาณาเขตของสุโขทัยไว้อย่างชัดแจ้ง กล่าวถึงว่าทิศตะวันออก จดเวียงจันทน์ เวียงคำ ทิศใต้จดศรีธรรมราช และฝั่งทะเล ทิศตะวันตกถึงหงสาวดี ทิศเหนือถึงเมืองแพร่ น่าน พลั่ว มีการกล่าวถึงชื่อเมืองสำคัญต่างๆ หลายเมือง เช่น เชลียง เพชรบุรี นอกจากนี้ยังได้พรรณนาแหล่งทำมาหากินและและแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเมืองสุโขทัยไว้

           ด้านภาษาศาสตร์ 

          ลายสือไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีความสมบูรณ์ทั้งสระและพยัญชนะ สามารถเขียนคำภาษาไทยได้ทุกคำ และสามารถเลียนเสียงภาษาต่างประเทศได้ดีกว่าอักษรแบบอื่นๆ เป็นอันมาก มีการใช้อักขรวิธีแบบนำสระและพยัญชนะมาเรียงไว้ในบรรทัดเดียวกัน ซึ่งทำให้ประหยัดทั้งเนื้อที่และเวลาในการเขียน ภาษาเป็นสำนวนง่ายๆ และมีภาษาต่างประเทศบ้าง ประโยคที่เขียนก็ออกเสียงอ่านได้เป็นจังหวะคล้องจองกันคล้ายกับการอ่านร้อยกรองด้านวรรณคดี ศิลาจารึกหลักนี้จัดว่าเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทย เพราะมีข้อความไพเราะลึกซึ้งและกินใจ ก่อให้เกิดจินตนาการได้งดงาม

           ด้านศาสนา 

          ข้อความในศิลาจารึกนี้ มีหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ได้รับการอุปถัมภ์เชิดชูอย่างดียิ่ง ประชาชนชาวไทยได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองสูงส่ง มีการสร้างปูชนียสถานและปูชนียวัตถุไว้เป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาในพระศาสนา จึงมีศิลปะงดงามยิ่ง แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถจะสร้างให้งามทัดเทียมได้ด้านจารีตประเพณี ศิลาจารึกหลักนี้ช่วยให้ทราบว่า สมัยสุโขทัยนั้นมีหลักจารีตประเพณีหลายประการที่ประชาชนนับถือและปฏิบัติกันอยู่ มีทั้งประเพณีทางพระพุทธศาสนาและประเพณีอื่น ๆ เช่น ประเพณีรักษาศีลเมื่อเข้าพรรษา ประเพณีฟังธรรมในวันพระ ประเพณีการทอดกฐิน ประเพณีการเผาเทียนเล่นไฟ เป็นต้น

           ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้ เป็นเอกสารที่สำคัญยิ่งชิ้นหนึ่งของชาติไทย เป็นมรดกอันล้ำค่าและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง มีสาระประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองนานัปการ ควรพิทักษ์รักษาไว้ให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดกาล

           และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่คณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การยูเนสโก) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 28-30 สิงหาคม 2546 ที่เมือง Gdansk ประเทศโปแลนด์ โดยได้พิจารณาใบสมัครจำนวน 43 รายการ จาก 27 ประเทศทั่วโลก ผลการประชุมมีมติสนับสนุนเป็นเอกฉันท์ให้องค์การยูเนสโกจดทะเบียนระดับโลก ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง พร้อมกับอีก 22 รายการ จาก 20 ประเทศ ทั้งนี้ โครงการมรดกความทรงจำของโลกเป็นโครงการเพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่มรดกความทรงจำที่เป็นเอกสาร วัสดุหรือข้อมูลข่าวสารอื่นๆ เช่น กระดาษ สื่อทัศนูปกรณ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย แต่จะต้องมีความสำคัญในระดับนานาชาติ และจะต้องมีการเก็บรักษาในความทรงจำในระดับชาติและระดับภูมิภาคอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อองค์การยูเนสโกได้ประกาศจดทะเบียนแล้ว ประเทศเจ้าของมรดกมีพันธกรณีทางปัญญาและทางศีลธรรมที่จะต้องอนุรักษ์ ให้อยู่ในสภาพที่ดี และเผยแพร่ให้ความรู้แก่มหาชนอนุชนรุ่นหลังทั่วโลกให้กว้างขวาง เพื่อให้มรดกดังกล่าวอยู่ในความทรงจำของโลกตลอดไป 

           นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างยิ่งที่นอกเหนือจากเป็นสถาบันการศึกษาภายใต้พระนาม พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์ผู้มีคุณูปการยิ่งใหญ่แก่ชาติไทยแล้ว ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันเป็น ตราประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังได้รับการยกย่องไปทั่วโลกว่าเป็น มรดกความทรงจำของโลก