กฎหมายในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมิได้มีไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นักกฎหมายในปัจจุบันได้ถือเอาข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 มาพิจารณาตามความหมายและแบ่งออกเป็นกฎหมายได้หลายลักษณะ ดังที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ให้ความเห็นว่า ศิลาจารึกหลักแรกนี้ถือเป็น ปฐมรัฐธรรมนูญไทย ทั้งนี้เพราะหลักการร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องมีการบอกอาณาเขต สิทธิเสรีภาพ ซึ่งในหลักศิลาจารึกก็ได้บัญญัติไว้ครบครัน

          ลักษณะกฎหมายอื่น ๆ ที่ใช้ในการปกครองสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อพิจารณาตามข้อความในศิลาจารึกแล้ว พอจะแยกกล่าวได้เป็นลักษณะดังนี้

          1. กฎหมายลักษณะพิจารณาความ ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า 

          "…ไพร่ฝ้าลูกเจ้าลูกขุน ผี้แล้ผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้จึ่งแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน เห็นเข้าท่านบ่ใคร่พีน เห็นสี่นท่านบ่ใคร่เดือด…"

          เมื่อมีกรณีพิพาทขึ้นระหว่างราษฎร รวมทั้งลูกเจ้าลูกขุน ถ้าอยู่ใกล้พระราชวัง ก็ให้ไปสั่นกระดิ่งที่ปากประตูพระราชวัง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็จะชำระคดีให้ด้วยพระองค์เอง ถ้าราษฎรอยู่ไกลไปมาลำบาก ทางการก็จะมีผู้ตัดสินกรณีพิพาทประจำตามความเป็นจริงและยุติธรรมที่สุด ผู้ตัดสินความที่เป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์จะต้องมีหลักธรรมประจำใจด้วยว่า หากจะมีฝ่ายใดให้สินบน จะตัดสินล้มคดีไม่ได้ ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง กินสินบาทคาดสินบนในการพิจารณาคดี พร้อมกับเตือนมิให้ใยดีกับข้าวของเงินทองของผู้อื่นด้วย

          2. กฎหมายว่าด้วยเรื่องภาษี ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า

          " …เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีเข้า เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า… "

          แสดงให้เห็นว่า สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีการค้าขายกันโดยเสรี ไม่มีการริดรอนสิทธิของราษฎร และไม่มีการเก็บภาษีอากร

          3. กฎหมายว่าด้วยที่ดิน ปรากฏในศิลาจารึกว่า

          "…สร้างป่าหมากป่าพลูทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน…"

          ลักษณะนี้เป็นลักษณะจับจองที่ดิน ปลูกพึชผลไม้ทำสวนต่าง ๆ มีสวนมะพร้าว สวนมะม่วง สวนขนุน เป็นต้น ใครเป็นผู้แผ้วถางจับจองแล้วก็มีสิทธิ์ตรงนั้น ได้กรรมสิทธิ์และถือเป็นทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกถึงทายาทด้วย

          4. กฎหมายว่าด้วยมรดก ในศิลาจารึกมีว่า

          "…ไพร่ฝ้าหน้าใสลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ล้มตายหายกว่า อย้าวเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมัน ช้างขอ ลูกเมีย เยียเข้า 
ไพร่ฝ้าข้าไทย ป่าหมาก ป่าพลู พ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น…"

          ประชาราษฎรในกรุงสุโขทัยไม่ว่าจะเป็นลูกข้าราชการหรือราษฎรทั่วไป เมื่อตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บหรือหายสาบสูญไปอย่างหนึ่งอย่างใด ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เป็นของพ่อแม่ ที่ล้มหายตายจากไปถือว่าตกเป็นมรดกของลูกหลานทั้งหมด

          5. กฎหมายระหว่างประเทศ ในศิลาจารึกมีว่า

          "…คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่อยเหนือเฟื่อกู้ มันบ่มีช้าง บ่มีม้า บ่มีปั่วบ่มีนาง บ่มี เงือนบ่มีทอง ให้แก่มัน ช่อยมันตวงเป็นบ้านเป็นเมือง ได้ข้าเสือกข้าเสือหัวพู่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี…"

          สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีอาณาจักรใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ด้วย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ไม่มีช้างก็หาให้ ไม่มีม้าก็หาให้ ไม่มีปัว (บ่าว) ก็หาให้ ช่วยตั้งบ้านเมืองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ที่เป็นเชลยศึกก็ไม่ฆ่าไม่ทำร้าย

          พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เถลิงถวัลยราชสมบัติเมืองสุโขทัยในราว พ.ศ. 1820 จนถึงประมาณพ.ศ. 1841 (1842) ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งแก่ชาติไทย พระองค์ทรงวางรากฐานให้ชาติไทยมีความมั่นคง ทรงแสนยานุภาพปราบปรามศัตรูน้อยใหญ่ให้ราบคาบจนอาณาเขตประเทศไทยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง พระองค์ทรงเป็นนักปกครองชั้นเยี่ยม ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา มุ่งประโยชน์สุขของราษฎรให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ปฏิบัติพระองค์ดุจบิดาปกครองบุตร ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนสิ่งใดก็อาจไปสั่นกระดิ่งซึ่งโปรดให้แขวนไว้ที่ประตูวังเพื่อร้องทุกข์ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ยินก็จะเสด็จออกพิจารณาความโดยยุติธรรม พระองค์ทรงเป็นพุทศาสนูปถัมภก และทรงเล็งเห็นอย่างถ่องแท้ว่า พระพุทธศาสนามีหลักธรรมอันล้ำเลิศ จึงดำเนินพระราโชบายที่จะให้พสกนิกรของพระองค์ได้ยึดมั่นในหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างกว้างขวาง เช่น โปรดให้นิมนต์พระสังฆราชจากเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นไปเทศน์สั่งสอนประชาชน โปรดให้สร้างวัดขึ้นโดยทั่วไปจนทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นอยู่จนทุกวันนี้ ในด้านการต่างประเทศ พระองค์ได้ทรงเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศได้อย่างดียิ่ง ในด้านอักษรศาสตร์นั้นพระองค์ได้คิดประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นเมื่อพ.ศ. 1826 และได้วิวัฒนาการมาเป็นอักษรไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาติและเป็นสื่อในการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา นำมาซึ่งความเจริญทางวิทยาการทุกด้าน พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์นั้นแผ่ไพศาลยิ่ง นับเป็นพระมหาราชเจ้าผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย