อยู่ห่างจากเขตเมืองชั้นในประมาณ 2 กม. เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มีคูน้ำล้อมรอบ สวยงามด้วยเทือกเขาหลวงซึ่งเห็นเป็นฉากหลัง ลักษณะเด่นของโบราณสถานแห่งนี้ คือ พระพุทธรูปสี่อิริยาบทขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปหินชนวน ซึ่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกล ผนังด้านทิศเหนือของมณฑปเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ด้านทิศใต้เป็นพระพุทธรูปประทับนอน ด้านทิศตะวันออกเป็นพระพุทธรูปลีลา ด้านทิศตะวันตกเป็นพระพุทธรูปประทับยืน ปัจจุบันพระพุทธรูปประทับนั่งและพระพุทธรูปประทับนอนหักพังเสียหายหมด เหลือแต่พระพุทธรูปประทับยืน และพระพุทธรูปลีลา ซึ่งก็ไม่สมบูรณ์เต็มองค์ ส่วนอื่นของวัดประกอบด้วยกำแพงแก้วล้อมมณฑปโดยทำจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้ ด้านหลังมณฑปใหญ่มีมณฑปขนาดเล็กย่อมุมไม้ยี่สิบ มีหลังคาก่อซ้อนกันเป็นเสา แลใช้หินชนวนขนาดใหญ่ทำเป็นเพดาน ยังปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่ชำรุดมากแล้ว ที่ผนังด้านนอกมีร่องรอยภาพเขียนสีดำลายพรรณพฤกษาอยู่บนกรอบประตู ด้านหน้าเป็นพระวิหารเสากลมสองแถว

          ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยใด แต่มีกล่าวอ้างถึงในจารึกวัดสรศักดิ์ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์กลางพุทธศตวรรษที่ 20 จากข้อความที่ระบุชื่อวัดเชตุพน ประกอบกับรูปแบบทางศิลปะกรรม แสดงให้เห็นว่า วัดเชตุพนคงเป็นวัดที่มีความสำคัญและเจริญร่งเรืองในช่วงสุโขทัยตอนปลาย หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือ มีการพบจารึกวัดเชตุพน ที่วัดนี้กล่าวถึงเจ้าธรรมรังษีซึ่งบวชได้ 22 พรรษา เป็นผู้มีจิตศรัทธาสร้างพระพุทธรูปขึ้นในพ.ศ. 2057