การเล่นดอกไม้เพลิง

             พุทธศักราช 2520 เป็นปีที่จังหวัดสุโขทัยเริ่มต้นฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ โดยความคิดริเริ่มของนายนิคม มูสิกะคามะ โดยพิจารณาจากหลักฐานสำคัญคือข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า 
              "…เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เทียรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียน  ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก …"
               การเผาเทียน คือ การจุดเทียนเพื่ออุทิศแสงสว่างของดวงเทียนเป็นพุทธบูชา เชื่อกันว่า ทำให้เกิดดวงปัญญาเฉลียวฉลาด 
เล่นไฟ เห็นจะหมายถึง การจุดดอกไม้ไฟมีสีสันต่าง ๆ อย่างที่เรียกว่า พลุ ไฟพะเนียง ไฟลูกหนู ระทาดอกไม้ ฯลฯ 
                การเล่นดอกไม้ไฟโบราณ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ดอกไม้เพลิง เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องรวมช่างจากสาขาวิชาหลายแขนงมาทำงานร่วมกัน เช่น ช่างไม้ ช่างวาดเขียน ช่างแกะสลัก ช่างผู้ผสมเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า ดินดำ ต้องเป็นช่างผู้มีความชำนาญและประสบการณ์สูง ส่วนประกอบสำคัญและเคล็ดลับในการประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงโบราณให้มีเสียง แสงสีสวยงาม แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนไทยแต่โบราณที่ได้ค้นคิดเกี่ยวกับวิทยาการแขนงนี้ไว้ด้วยความฉลาดหลักแหลมยิ่ง ปัจจุบันมีผู้สืบทอดประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงโบราณประเภท พลุ ตะไล ไฟพะเนียงที่จังหวัดสุโขทัยหลายท่านเช่น นายแผน อินสอน นายสืบสกุล (อ๊อด) แสนโกศิก และอาจารย์สัญลักษณ์ แสนโกศิก นอกจากนี้ก็ยังมีนายสิทธา สลักคำ (อัยการอาวุโส ตำแหน่งปัจจุบัน พ.ศ. 2545 ) ผู้อนุรักษ์และส่งเสริมการเล่นดอกไม้เพลิงโดยเป็นคนแรกและคนเดียวที่รวบรวมอาจารย์ผู้ประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงโบราณหลากชนิดเข้าร่วมจุดแสดงในงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟที่จังหวัดสุโขทัยในปี พ.ศ. 2528 และปี พ.ศ. 2529 โดยขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดสุโขทัย
                 การเล่นดอกไม้เพลิงโบราณมีจุดมุ่งหมายเพื่อน้อมนำนมัสการถวายเป็นพุทธบูชา วิธีการเล่นหรือจุดดอกไม้เพลิงจึงผูกพันกับ"สัจจธรรม" สำคัญของการมีตัวตน หรือมีชีวิต คือ "การเกิดและการแตกดับ" โดยจัดการเล่นเป็นขั้นตอนสำคัญไว้ 5 ขั้น คือ

  
   

ขั้นตอนที่ 1 การประกาศป่าวร้อง ริเริ่ม หรือก่อตัว 
          ตัวไฟที่ใช้จุดแสดง คือ พลุ ซึ่งจะส่งเสียงดังไปไกล เปรียบเสมือนการส่งเสียงบอกกล่าวป่าวร้อง หรือให้อาณัติสัญญาณว่างานพิธีได้เริ่มขึ้นแล้ว
ขั้นตอนที่ 2 การเกิดสรรพสิ่ง (ชาติ) 
          มีด้วยกัน 2 ทาง คือ ทางหนึ่งเกิดจาก ไข่ และอีกทางหนึ่ง เกิดเป็นตัวตน ได้แก่ 
การเล่นไฟพะเนียงไข่ ไฟปลาดุก ไฟปลาช่อน ไฟดอกไม้น้ำ ไฟลิงขย่มรังผึ้ง ไฟลูกหนู ฯลฯ
ขั้นตอนที่ 3 การแตกดับ (มหาภูติดับขันธ์) 
         เมื่อสรรพสิ่งทั้งหลายได้อุบัติขึ้นแล้ว สังขารย่อมไม่เที่ยงเป็นไปตามวัฏสงสารและในที่สุด
ก็ต้องแตกดับไป หรือที่เรียกว่า "ไฟธาตุ" แตกดับ ตัวไฟที่ใช้แสดงได้แก่ ไฟประทัด จุดให้ดังรัว
นับครั้งไม่ถ้วน เปรียบเสมือนเสียงแห่งการแตกดับของสรรพชีวิตซึ่งมีจำนวนมากมาย
ขั้นตอนที่ 4 ลอยตัวสู่อากาศ (ภพวิญญาณ) 
          เมื่อชีวิตสูญสิ้นหรือดับขันธ์ จะมีขันธ์หนึ่งในขันธ์ 5 คือ "วิญญาณขันธ์" ออกจากร่างล่องลลอยอยู่ตามอากาศ ตัวไฟที่ใช้จุดแสดงแทนดวงวิญญาณนี้ ได้แก่ ตะไล กรวดหรือตรวด และอ้ายตื้อ หรืออีตื้อ
ขั้นตอนที่ 5 บูชาผู้มีพระคุณ กงเกวียนกำเกวียน และภูมิปัญญา 
          ขั้นตอนนี้นับว่าสำคัญที่สุด ต้องมีการจัดสร้างต้นองค์ไฟใหญ่ 3 ชนิด คือ ไฟพเยียมาศ หรือไฟดอกไม้พุ่ม หรือไฟพวงดอกไม้ กังหันไฟ และระทา ลำดับขั้นตอนการจุดแสดงมีดังนี้ ได้แก่ 
          ลำดับที่ 1 จุดไฟพเยียมาศ หรือไฟดอกไม้พุ่ม เปรียบเสมือนนำดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชาต่อผู้มีพระคุณและผู้มีฐานันดรศักดิ์ในงานพิธี
          ลำดับที่ 2 เมื่อไฟพเยียมาศเริ่มลุกไหม้ชั่วขณะหนึ่ง จึงจุดต้นองค์ไฟระทา ซึ่งเปรียบเสมือนองค์พระและผู้มีพระคุณในงานพิธี
          ลำดับที่ 3 ขณะที่ระทาใกล้จะดับลง จึงจุดกังหันไฟ หรือ ไฟเถรกวาด เปรียบเสมือนขอบขันธสีมา หรือกงเกวียนกำเกวียน
          ลำดับที่ 4 เมื่อต้นองค์ไฟใหญ่ทั้งสามชนิดดับลง จึงเริ่มจดไฟพะเนียง หรือไฟกระถางให้ส่องแสงสว่างไสว เปรียบเสมือนภูมิปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
ตั้งแต่เริ่มจุดดอกไม้เพลิงตามลำดับดังกล่าว จะต้องมีวงปี่พาทย์บรรเลงเพลง "ตระเทวาประสิทธิ์" ประกอบไปจนกว่าระทาจะดับสิ้นลง แต่หากมี "มหรสพสมโภช" ประกอบกับต้นองค์ไฟระทาอยู่ด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องนำวงปี่พาทย์มาบรรเลง และเรียกต้นองค์ไฟระทาที่มีมหรสพนี้ว่า "ระทาช่องโขน"