จิตรกรรมไทยแบบประเพณี (Traditional Thai painting) โดยมากเขียนไว้เพื่อจุดประสงค์ ในการประดับตกแต่ง อาคารศาสนสถานและเครื่องใช้ ที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา เช่น ในโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ คูหาในสถูปเจดีย์ คัมภีร์ต่างๆ และบนภาพพระบฏ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวจากพระไตรปิฎก เช่น พุทธประวัติ ชาดก ไตรภูมิ และอื่นๆ โดยนอกจากจะเป็นไปเพื่อการประดับตกแต่งแล้ว ยังได้เล่าเรื่อง และแสดงธรรมบางประการไว้ด้วย นอกเหนือไปจากการให้ความรู้ความเพลิดเพลินแล้ว จิตรกรรมไทยยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไป ของสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และคติความเชื่อของคนไทยในยุคสมัยต่างๆ สอดแทรกไว้ด้วย 

          งานจิตรกรรมสมัยสุโขทัยนั้นปรากฏว่ามีการทำภาพแกะลายเบา โดยแกะสลักบนหินเป็นลายเส้น ตัวอย่างเช่น ภาพแกะสลักลายเส้นบนเพดานผนังอุโมงค์วัดศรีชุม สลักเรื่องโคชานิยชาดก สำริดจากวัดเสด็จ ตลอดจนจิตรกรรมฝาผนังพบที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว ภายในคูหาชั้นในของมณฑปที่มีเรือนยอดเป็นปรางค์ผสมเจดีย์ทรงระฆังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่ปัจจุบันลบเลือนเกือบหมดแล้ว แต่นับเป็นคุณูปการแก่คนไทยอย่างยิ่งที่ท่านศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งเป็นผู้ที่รัก เข้าใจ และเห็นคุณค่าของจิตรกรรมไทย ได้ทำการคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดเจดีย์เจ็ดแถวไว้เป็นหลักฐานให้อนุชนรุ่นหลังได้ทำการศึกษาต่อมา
         งานศิลปกรรมของแต่ละชาติแต่ละยุคในสมัยแรกๆ อาจมีลักษณะแบบอย่างดั้งเดิม หรือได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากชนชาติที่มีความเจริญสูงกว่า ต่อมาก็พัฒนาสร้างลักษณะแบบอย่างที่มีเอกลักษณ์ของตนเองจนจัดได้ว่ามีความเจริญสูงสุด หรือที่เรียกว่าเป็นยุคทอง (golden age)   
หรือยุคคลาสสิค (classic age) ที่ชี้ชัดให้เห็นถึงความสามารถทางศิลปะเป็นพิเศษไม่มียุคใดสมัยใดของชาตินั้นๆ เปรียบเทียบได้ 
         ประเทศต่างๆ ได้พยายามจัดยุคที่รุ่งเรืองของตนให้เป็น ยุคทอง เพื่อให้ประชาชาติของตนรู้สึกภาคภูมิใจและให้ชาวโลกได้รู้จักได้ศึกษา เช่นสมัยสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ (Elizabethan Age) เป็นยุคทองของชาวอังกฤษ สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV Reign) เป็นยุคทองของชาวฝรั่งเศส สมัยคุปตะ (Guptan Period) เป็นยุคทองของชาวอินเดีย สมัยราชวงศ์ถัง (Tang dynasty) เป็นยุคทองของชาวจีน สมัยนารา(Nara Period) เป็นยุคทองของชาวญี่ปุ่น เป็นต้น
         สมัยสุโขทัยได้รับการยอมรับว่า เป็น ยุคทองของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย และชาวโลก ด้วยความงดงามแห่งทัศนศิลป์ด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ของสุโขทัยนี้เองที่ทำให้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) คัดเลือกให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เป็นมรดกโลก (World Heritage) ในปีพุทธศักราช 2534