เครื่องสังคโลก
 
     เครื่องปั้นดินเผา เป็นวัฒนธรรมเชิงหัตถศิลป์ที่สืบทอดให้เราผู้เป็นอนุชนได้สืบเนื่องความคิดของบรรพชนของเรา และพัฒนาจนมาเป็นเครื่องใช้ไม้สอยที่ทันสมัยจนทุกวันนี้ สุโขทัยเป็นแหล่งอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมานานนับพันปี ปรากฏได้จากโบราณสถาน และโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของสุโขทัย คือ เครื่องสังคโลก

     เครื่องสังคโลก หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในรูปภาชนะเครื่องใช้ และเครื่องประดับอาคารต่าง ๆ เช่น ถ้วย ชาม จาน ไหดิน โอ่งน้ำ ขวดดิน กระปุก ป้านน้ำชา ช้อน ตลอดดจนตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ เช่น ช้าง รูปยักษ์ รูปเทวดา พระพุทธรูป กระเบื้องมุงหลังคา สิงห์สังคโลก ลูกมะหวด ท่อน้ำ ตุ๊กตาเสียกบาล ตัวหมากรุก ช่อฟ้า บราลี ฯลฯ มีทั้งที่เคลือบน้ำยาและไม่เคลือบน้ำยา ลักษณะเด่นคือ เป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบเนื้อละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดเนื้อแตกลายงาสีเขียวไข่กา วิวัฒนาการของการเคลือบสีเขียวประณีตงดงามทำให้มีการเรียกชื่อเครื่องปั้นดินเผาสีเขียวว่า "เซลาดอน" ซึ่งเคลือบสีระดับต่าง ๆ กัน เช่น สีเขียวไข่กา สีเขียวมะกอก

      การกำหนดอายุเครื่องสังคโลกจากหลักฐานที่ค้นพบเครื่องสังคโลกกับเครื่องถ้วยสีเขียวของจีนสมัยราชวงศ์หยวนในเรือที่จมใต้อ่าวไทยชื่อ เรือรางเกวียน กำหนดอายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 19 และศึกษาเปรียบเทียบเครื่องสังคโลกกับเครื่องปั้นดินเผาจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่พบที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้กำหนดเครื่องสังคโลกให้มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 การผลิตเครื่องสังคโลกเริ่มสมัยสุโขทัย แต่ได้รับการส่งเสริมเป็นสินค้าออกและขยายการผลิตจำนวนมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา การผลิตเครื่องสังคโลกลดลงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตลาดการค้าสังคโลกเปลี่ยนแปลงคือ การที่จีนหวนกลับมาผลิตเครื่องลายครามน้ำเงิน-ขาว ซึ่งกลายเป็นที่นิยม และการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแปลงไปตามข้อเรียกร้องของชาวตะวันตกที่มีบทบาททางการเมืองในภูมิภาคนี้

     คำว่า สังคโลก มีผู้สันนิษฐานไว้ต่างกัน บ้างว่ามาจากคำว่า "ซ้องโกลก" แปลว่า เตาแผ่นดินซ้อง
บ้างว่ามาจากคำว่า "ซันโกโรกุ" หรือ "ซังโกโรกุ" ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งอาจเพี้ยนมาจากคำว่า "สวรรคโลก"
อันเป็นชื่อที่แพร่หลายของเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัยในพงศาวดารอยุธยา ชื่อเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก จึงมีความหมายเดิมจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณเชลียงหรือศรีสัชนาลัย และเมืองที่สัมพันธ์กันคือ สุโขทัย ดังได้พบเตาผลิตมากมายในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามเตาผลิตทางภาคเหนือของไทยอีกหลายแห่งได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทที่เรียกว่า สังคโลก เช่นกัน

     ประเภทของเครื่องสังคโลก แบ่งได้ตามลักษณะเนื้อดินและลวดลาย และแบ่งตามเตาเผา

          1. ลักษณะเนื้อดินและลวดลาย เนื้อดินเป็นประเภทเนื้อแกร่ง หรือสโตนแวร์ (stoneware) ซึ่งใช้อุณหภูมิในการเผาสูงประมาณ 1150-1280 องศาเซลเชียส เทคนิคการตกแต่งทั้งการเคลือบและลวดลายมีต่าง ๆ กัน ดังนี้

          
¤ เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ ประดับลวดลายด้วยการใช้แม่พิมพ์กดลวดลายประทับ เช่น ลายก้านขด หรือลายเรขาคณิต มีการประดับด้วยวิธีปั้นดินแล้วแปะติดเข้ากับภาชนะก่อนเผา

          
¤ เครื่องถ้วยสีน้ำตาลเข้ม เป็นการเคลือบสีพื้นเดียว ลักษณะรูปแบบและสีน้ำเคลือบคล้ายกับเครื่องถ้วยลพบุรีประเภทเคลือบสีน้ำตาล

          
¤ เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายใต้เคลือบน้ำตาลดำ ลักษณะคล้ายเครื่องถ้วยจีนจากเสาสือโจ้ว กับเครื่องถ้วยอันหนาน (เครื่องถ้วยของเวียดนาม)

          
¤ เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายบนเคลือบสีน้ำตาลทอง

          
¤ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวไข่กา หรือ เซลาดอน ซึ่งตกแต่งลวดลายด้วยวิธีการขูดและขุดลายในเนื้อดินแล้วเคลือบทับ คล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยจีนจากเตาหลงฉวน สมัยราชวงศ์ซุ้งตอนปลายถึงราชวงศ์หยวน (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20)

     ลวดลายที่ปรากฏในถ้วยชามสังคโลก เป็นลวดลายเฉพาะ ที่พบมากในจาน ชาม คือ รูปปลา กงจักร ดอกไม้ โดยเฉพาะรูปปลานั้นสันนิษฐานว่าเป็น ปลากา มิใช่ปลาตะเพียนที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน เพราะพบในชามสังคโลกใบหนึ่งมีอักษรลายสือไท เขียนบอกชื่อปลาไว้ว่า "แม่ปลาก่า" อยู่ใต้ตัวปลา ปลากา เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนมีอยู่ 2 ชนิด คือ ปลากาดำ และปลากาทรงเครื่องทั้งสองชนิดมีมากในแม่น้ำลำคลองทั่วไป โดยเฉพาะที่แม่น้ำยม 

 

 

 

 




 


หน้าแรกศิลปกรรมสมัยสุโขทัย  I 1 I 2 I 3 I