ประวัติการก่อสร้าง

      เมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ จังหวัดสุโขทัย ในโอกาสนี้ได้ทรงประกอบพิธีบวงสรวงสังเวย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ วัดศรีชุมด้วย ในครั้งนั้นปรากฏว่าประชาชนได้เรียกร้องให้ทางราชการดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยให้เหตุผลว่า พระบรมราชานุสาวรีย์ของมหาราชพระองค์อื่นได้สร้างครบถ้วนทุกพระองค์แล้ว ยกเว้นแต่พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังนั้นจังหวัดสุโขทัยจึงได้ริเริ่มดำเนินการนำเสนอความเห็นมายังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาลงมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2507และได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นโดยกรมศิลปากรรับผิดชอบการออกแบบและการหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

     นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2507 สืบเนื่องต่อมาหลายปีผ่านสมัยของรัฐบาลหลายชุด คณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ได้ดำเนินการมาเป็นระยะ คือ พิจารณาคัดเลือกสถานที่โดยอาศัยหลักเกณฑ์และแนวทางจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ และเห็นว่าบริเวณพื้นที่ริมทางหลวงภายในกำแพงเมืองเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม กว้างประมาณ 26 ไร่ อาณาเขตขณะที่กำหนดเมื่อพ.ศ. 2508 ทิศเหนือติดต่อกับวัด ตะกวนซึ่งเป็นวัดร้าง ทิศตะวันตกติดต่อกับตระพังตะกวน ต่อมาในปีพ.ศ. 2520 กรมศิลปากรได้ดำเนินการโครงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้ปรับปรุงพื้นที่ให้มีความกลมกลืนกับสภาพของโครงการ บริเวณที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงเป็นภูมิทัศน์ที่งดงามยิ่ง 

     พิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐาน พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 และเมื่องานออกแบบพระบรมรูปและปั้นหุ่นดินเสร็จพร้อมที่จะหล่อได้แล้ว คณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างฯ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูป ณ มณฑลพิธี กองหัตถศิลป กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2513 

     เมื่อกรมศิลปากรปั้นหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและภาพจำหลักนูนแสดงเหตุการณ์ในรัชสมัยเรียบร้อยแล้ว จังหวัดสุโขทัยมีความประสงค์จะอัญเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐาน ณ ปะรำพิธีบริเวณเนินปราสาท อำเภอเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัยเพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาในระหว่างที่ยังมิได้ประกอบพิธีเปิด ซึ่งขณะนั้นเป็นระยะที่กำลังดำเนินการก่อสร้างแท่นฐานและจัดผังบริเวณ โดยได้ก่อสร้างปะรำเพื่อประดิษฐานพระบรมรูปชั่วคราว จังหวัดสุโขทัยได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เทื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2518 

     พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ประดิษฐานอยู่ที่ปะรำพิธี ณ เนินปราสาทเป็นเวลา 1 ปี งานก่อสร้างแท่นฐานจึงเสร็จเรียบร้อย จากนั้นจังหวัดสุโขทัยจึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากเนินปราสาท ไปประดิษฐานยังแท่นฐานปัจจุบันเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2519และจัดให้มีมหรสพฉลองสมโภชด้วย 

ลักษณะพระบรมรูป 
     พ่อขุนรามคำแหงมหาราชประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังศิลาบาตร ขนาดเท่าพระแท่นจริงยาว 4 เมตร กว้าง 2.88 เมตร พระหัตถ์ขวาทรงถือสมุดไทยอันหมายถึงสรรพวิทยาการต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงรอบรู้ พระหัตถ์ซ้ายแสดงลักษณะทรงสั่งสอนพสกนิกรหรือขณะออกว่าราชการ พระแท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้าง ๆ ขนาดพระบรมรูป 2 เท่าพระองค์จริง เฉพาะพระองค์สูง 3 เมตร หล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาดน้ำหนักประมาณ 3 ตัน ลักษณะพระพักตร์อย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ถ่ายทอดความรู้สึกที่แสดงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรม และเฉียบขาด เครื่องฉลองพระองค์และศิราภรณ์ยึดถือลักษณะจากเทวรูปของศิลปสมัยสุโขทัย ผู้ปั้นหุ่นพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ นายสนั่น ศิลากรณ์ นายช่างเอกของกรมศิลปากรซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีฝีมือเป็นเยี่ยมและเป็นศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร 

 

ลักษณะแท่นฐาน 
          ทรวดทรงแท่นฐานอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะสถาปัตยกรรมเลียนแบบศิลปกรรมสมัยสุโขทัย เป็นแท่นนฐานแบบเจดีย์ทรงกลมในวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย รอบฐานแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างสัณฐานเตี้ยเหมือนมูลดิน ประดับด้วยลวดลายกาบบัว ด้านหน้าประดิษฐานรูปศิลาจารึกจำลองขนาด 2 เท่าจริง บริเวณโดยรอบปลูกหญ้าและต้นไม้ มีบันไดขึ้น 4 ด้าน ระหว่างขั้นบันไดประดับหินอย่างธรรมชาติยกพื้นขึ้นไปอีก 2 ชั้น แต่ละชั้นประดับด้วยลายบัวคว่ำบัวหงายถึงฐานชั้นที่ 3 ประดิษฐานพระแท่นมนังศิลาบาตร และพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านหน้าพระบรมรูปมีคำจารึก 

ภาพจำหลักที่แท่นฐาน 
          แผ่นที่1 ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงช้างเผือกซื่อ "รูจาครี" ไปทรงนมัสการพระอัฏฐารส วัดสะพานหิน ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ มีคำจารึกใต้ภาพว่า 
          "พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกซื่อรูจาครี ไปนบพระอัฏฐารส ณ วัดตะพานหิน ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ" 
          แผ่นที่2 ภาพจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า มีคำจารึกใต้ภาพว่า 
          "จูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า " 
          แผ่นที่ 3 ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ชนช้างกับขุนสามชน มีคำจารึกใต้ภาพว่า 
          "พ่อขุนรามคำแหงชนช้างกับขุนสามชน" 
          แผ่นที่ 4 ภาพชาวสุโขทัยบำเพ็ญศีลทาน การกุศล มีคำจารึกใต้ภาพว่า 
          "ชาวสุโขทัย บำเพ็ญศีล ทาน การกุศล 

ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูป 
          แผ่นที่ 1 ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดประดิษฐ์ต้นแบบอักษรไทย จารึกบนหลักศิลา 
          แผ่นที่ 2 ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงรับเรื่องราวร้องทุกข์ของราษฎร ภาพจำหลักนูนแต่ละแผ่นหล่อด้วยทองเหลืองผสมทองแดง ทาน้ำยารมควัน น้ำหนักแผ่นละประมาณ 600 กิโลกรัม 

คำจารึกพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ จังหวัดสุโขทัย 
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 
พระโอรสในพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระนางเสือง 
ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด เมื่อพระชนมมายุ 19 พรรษา 
เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สามแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช 1822 
ทรงประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อพุทธศักราช 1826 
โปรดเกล้า ฯ ให้สลักศิลาจารึกลงเหตุการณ์ เมื่อพุทธศักราช 1835 
ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ชองชาติสืบมา 
ทรงกระทำสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน 
พระราชทานพระราชกำหนดกฎหมายและทรงบำรุงการพระศาสนาให้รุ่งเรือง 
บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดรัชสมัยของพระองค์ 
สวรรคตเมื่อพุทธศักราช 1842 
ประชาชนชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ 
จึงพร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ไว้เพื่อประกาศเกียรติคุณชั่วนิรันดร์