ร้อยตำรวจตรี วิจารณ์ พลฤทธิ์

          เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2519

          บิดาชื่อนายจิ้ม      มารดาชื่อนางทองม้วน      พลฤทธิ์

          มีพี่น้องรวม 4 คน เป็นชาย 3 หญิง 1 โดยวิจารณ์เป็นบุตรคนที่ 3 

เริ่มเข้าศึกษาในโรงเรียนเมืองเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และเข้าเรียนชั้นมัธยมที่ 4-6 ที่โรงเรียนวัดด่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. จากวิทยาลัยรัตนบัณฑิตและศึกษาชั้นปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ ไปพร้อมๆ กับการรับราชการกรมตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1

          สมรสกับนางจุฬาพร (เก๋) พลฤทธิ์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2543 

วิจารณ์ พลฤทธิ์ เริ่มชกมวยเมื่ออายุประมาณ 9 ขวบ โดยใช้ชื่อว่า "แสนเชิง ลูกเมืองด้ง"    ชกมวยตามงานวัด และต่างจังหวัดได้ค่าตัว 50-100 บาท ครูมวยคนแรกคือ นายงาน พลฤทธิ์ หรือ "คมเคียวลูกเมืองด้ง" ซึ่งเป็นน้องชายของนายจิ้ม พลฤทธิ์ ที่ชกมวยจนมีฐานะแล้ว จึงเปิดค่ายมวยปั้นลูกหลานให้มีชื่อเสียงในชื่อค่าย "ศิษย์ครูงาน" ครูได้ฝึกฝนการชกมวยให้แก่หลาน
จนมีฝีมือเก่งกล้าในแถบย่านจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียงแทบไม่มีใครสู้ เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 พี่ชาย คือ นายบรรจง พลฤทธิ์ หรือ "สุโขทัย แท็กซี่มิเตอร์" ก็ได้นำน้องชาย
เดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาต่อ พร้อมๆ กับการชกมวยไปด้วยโดยใช้ชื่อว่า 
"ศรีสัชนาลัย ศศิประภายิม" จนโด่งดัง และสามารถคว้าแชมป์รุ่น 115 ปอนด์ของเวทีมวย
ราชดำเนิน หลังจากนั้น วิจารณ์ พลฤทธิ์ ได้หันมาชกมวยสากลและสร้างผลงานคว้าแชมป์
มวยสากล ในกีฬากองทัพไทย ในปี พ.ศ. 2542 และแชมป์เหรียญทองซีเกมส์ที่ประเทศบรูไน 
ในปีพ.ศ. 2542 


    
ก่อนที่จะเป็นแชมป์เหรียญทอง และวีรบุรุษในโอลิมปิกเกมส์ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งประวัติศาสตร์การกีฬาของชาติไทยต้องจารึกเอาไว้… 
        เส้นทางสู่เกียรติยศของชาติ ที่วิจารณ์ พลฤทธิ์ ต้องฟันฝ่าด้วยพละกำลัง สติปัญญา และไหวพริบ เริ่มต้นที่การชกในรุ่น 51 กิโลกรัม กับนักชกชาวเยอรมนีชื่อ วาร์ดอน ซาการ์คาน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2542 วิจารณ์ พลฤทธิ์ สามารถเอาชนะคู่ชกได้ก่อนจบยกสุดท้ายเนื่องจากทำคะแนนทิ้งห่างถึง 17-2 ต่อมาวันที่ 24 กันยายน วิจารณ์ ขึ้นชกกับนักมวยชาวแคนาดา ชื่อ แอนดรูว์ คูเนอร์ และสามารถกำชัยชนะเหนือคู่ชกด้วยคะแนน 11 -7 วันที่ 27 กันยายน วิจารณ์ พลฤทธิ์ ขึ้นชกกับแชมป์โลก 2 สมัย ชาวคิวบาคือ มานูแอล แมนทิลลา และได้รับชัยชนะด้วยคะแนน 19-8 (เหรียญทองแดง) วันที่ 29 กันยายน วิจารณ์ พลฤทธิ์ ขึ้นชกกับ ไชโอเรนโก นักชกแชมป์ยุโรปจากประเทศยูเครน และสามารถเอาชนะต่อคู่ชกได้ด้วยคะแนน 14-11
       วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 นาทีแห่งประวัติศาสตร์ของการกีฬาไทยเริ่มขึ้นเมื่อเวลา
09.00 น. วิจารณ์ พลฤทธิ์ ขึ้นเวทีในมุมน้ำเงิน ประชันหมัดกับคู่ชกชาวคาซัคสถาน ชื่อ 
โบสัต ยูมาดิลอฟ ซึ่งอยู่มุมแดง วิจารณ์ แม้จะเสียเปรียบในด้านรูปร่างแต่ก็อาศัยความว่องไว
เต้นฟุตเวิร์คไปรอบๆ เวที รอจังหวะสวนกลับ จนถึงยกสุดท้ายวิจารณ์ สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้
ด้วยคะแนน 19-12 เป็นวีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิก คนที่ 2 ของประเทศไทย และนับเป็น
นักกีฬาคนที่ 8 ของประเทศที่ได้เหรียญจากกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ภาพที่ประทับใจคนไทยทั้งชาติ
ก็คือภาพที่ วิจารณ์ พลฤทธิ์ ชูพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นเหนือศีรษะ และนำธงไตรรงค์ผูกคอปิดแผ่นหลังวิ่งไปรอบๆ บนเวทีแสดงให้ผู้ที่ชม ณ เวทีการแข่งขัน ตลอดจนผู้ที่ชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทย และองค์พระประมุขของประเทศ นอกจากนี้ในขณะที่
ขึ้นรับเหรียญรางวัล วิจารณ์ พลฤทธิ์ ก็ได้ประณมมือไหว้พร้อมกับค้อมศีรษะอย่างงดงามเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้ที่มอบเหรียญรางวัล อันเป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์
ที่งดงามของชาติไทยให้ประจักษ์แก่สายตาของผู้ชมรอบเวทีการแข่งขัน รวมทั้งผู้ที่ชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วโลกได้เห็น…

 

 



 

 

 

 

 


 

  

… ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวิจารณ์ พลฤทธิ์ ในครั้งนี้มีจำนวนไม่น้อย นับตั้งแต่คุณพ่อจิ้ม พลฤทธิ์ บิดาของวิจารณ์ พลฤทธิ์ นายฮวน ฟอนตาเนียน โค้ชชาวคิวบา พลเอกสำเภา ชูศรี นายกสมาคมมวยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ฯลฯ วาทะอัน จับใจคนไทยทั้งชาติของวีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิกคนนี้ก็คือ "ถึงผมได้เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์แล้ว ผมก็ยังจะเป็นวิจารณ์ คนเดิมของทุกคนต่อไป วันนี้เพลงชาติไทยเพราะมาก เพราะที่สุดในโลกเท่าที่เคยฟังมา ผมดีใจจริงๆ ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีความสุขในวันนี้ได้…"