พระร่วงโรจนฤทธิ์
        
พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานภายในวิหารด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนบนฐานหล่อบัวคว่ำบัวหงาย วงพระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม นิ้วพระหัตถ์และพระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าระดับพระอุระในลักษณะกิริยาห้ามเรียกกันว่า "ปางห้ามญาติ" พ่นจีวรบางคลุมแนบติดพระวรกาย ความสูงจากยอดพระบาทถึงพระเกตุ 7.45 เมตร ประดิษฐานอยู่ที่บริเวณโถงด้านหน้าของวิหารด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์
          ประวัติความเป็นมามีว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราชนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2451 ได้เสด็จประพาสหัวเมืองภาคเหนือ ทรงพบพระพุทธรูปที่ประกอบด้วยพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย 
จังหวัดสุโขทัย โดยองค์พระพุทธรูปนั้นชำรุดมากเหลือแต่พระเศียรกับพระหัตถ์ข้างหนึ่งและพระบาท จึงโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพ ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการปั้นหุ่นขึ้นให้บริบูรณ์เต็มองค์พระพุทธรูป แล้วเททองหล่อทำพิธีสถาปนาพระพุทธรูปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
          ในปี พ.ศ. 2457 โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปมาไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์ พร้อมกับจัดการประกอบองค์ขึ้นประดิษฐานและตกแต่งแล้วเสร็จเป็นพระพุทธรูปประทับยืนเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาสมหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร" พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความผูกพันกับพระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ โดยมีพระบรมราชโองการสั่งข้อความเป็นพระราชพินัยกรรม ตามหนังสือพระบรมราชโองการวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 ความว่า " ข้อ 17 พระอังคารขอให้บรรจุใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ ที่พระปฐมเจดีย์ในโอกาสอันเหมาะ ซึ่งไม่ติดต่อกับงานพระเมรุ "
          ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้ารอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญผอบพระบรมราชสรีรางคารจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาบรรจุในฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2469
          ต่อมา พ.ศ. 2528 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์ หลังจากพระราชทานเพลิงศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บรรจุพระอังคารที่ฐานด้านหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ โดยโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนางสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงประกอบพิธีบรรจุพระอังคารในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2529
         วิหารที่ประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์เป็นแบบทรงไทย บริเวณโถงด้านหน้าได้รับการออกแบบให้มีศิลปกรรมที่วิจิตรประณีตงดงามเป็นพิเศษ ลักษณะพระวิหารมีสามมุข สามบันไดหลังคามุงกระเบื้อง เคลือบสองชั้นลดส่วน ห้องกลางและห้องในมีประตูภายในจากโถงด้านหน้าผ่านเข้าไปถึงกันได้ตลอดทั้งสามห้อง 
          พระร่วงโรจนฤทธิ์  เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมานับแต่โบราณกาลจนปัจจุบัน