ทำนบพระร่วง
        
ทำนบพระร่วง เป็นคำที่คนท้องถิ่นตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย ใช้เรียกร่องรอยของคันดินโบราณเพื่อการชลประทานที่เมืองเก่าสุโขทัยซึ่งกษัตริย์สุโขทัยองค์ใดองค์หนึ่งสร้างขึ้น โดยที่เมื่อพบสิ่งใดที่เป็นของเมืองโบราณ ชาวบ้านละแวกนั้นจะอธิบายว่าเป็นของที่พระร่วงทำขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระร่วงทั้งสิ้น 
         ร่องรอยคันดินชลประทาน หรือ ทำนบพระร่วงนั้นอยู่นอกเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตรงบริเวณที่กระหนาบด้วยภูเขาสองลูกเป็นรูปก้ามปู คือ เขาพระบาทใหญ่ กับเขากิ่วอ้ายมา ภูเขาทั้งสองรูปนี้อยู่ในเทือกภูเขาหลวงด้านหลังตัวเมืองสุโขทัยโบราณ ลึกเข้าไปในเทือกเขานี้เป็นซอกเขาอันเป็นต้นกำเนิดของทางน้ำเรียกว่า โซกพระร่วงลองขรรค์ ลำธารขนาดเล็กที่มีต้นกำเนิดจาดโซกพระร่วงลองขรรค์ จะไหลเลาะเชิงเขากิ่วอ้ายมาออกมา โดยอีกฟากหนึ่งของฝั่งธารจะเป็นที่ลาดชันของเชิงเขาพระบาทใหญ่
         ปัจจุบันกรมชลประทานได้สร้างเขื่อนดินสูงเป็นแนวเชื่อมระหว่างปลายเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา สามารถกักน้ำที่ไหลออกมาจากโซกพระร่วงลองขรรค์ บริเวณระหว่างเขาทั้งสองลูกจึงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมและระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนี้ลงคลองเสาหอ  ซึ่งจะนำน้ำนี้เข้าคูเมืองสุโขทัยที่มุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นตำแหน่งที่มีระดับความสูงของพื้นดินสูงที่สุดของเมืองสุโขทัย น้ำจากคลองเสาหอจะไหลลงคูเมืองด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ จากนั้นจะไหลเข้าคูเมืองด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกไปสู่มุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีระดับต่ำที่สุดก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำลำพันไปลงแม่น้ำยมที่อยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันออก
          เดิมก่อนที่กรมชลประทานจะก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ บริเวณนี้จะมีคันดินเตี้ย ๆ สูงประมาณ 1-2 เมตร ทอดยาวเป็นแนวขนานกันกับเขื่อนดินสร้างใหม่ของกรมชลประทาน มีคำเรียกคันดินโบราณนี้ว่า ทำนบพระร่วง แต่ลักษณะคันดินไม่สูงนักรวมทั้งมิได้มีสภาพการก่อสร้างที่แข็งแรงพอ จึงอาจที่จะวิเคราะห์ได้ว่า คันดินโบราณที่เรียกว่าทำนบพระร่วงนี้ มิได้ทำหน้าที่เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำเหมือนกับเขื่อนดินที่กรมชลประทานมาสร้างไว้
         ทำนบพระร่วงของเดิมจะทำหน้าที่บังคับทิศทางของน้ำที่มีมากในฤดูฝน มิให้ไหลล้นไปในทิศทางอื่นที่มิใช่ทิศทางไปสู่เมืองสุโขทัยแต่จะทำหน้าที่เบนน้ำทั้งหมดที่ไหลมาจากเขาทั้งสองลูกนี้ให้ไหลลงไปในคลองเสาหอทั้งหมด เพื่อนำไปสู่คูเมืองสุโขทัย
         แนวคันดินที่ทำหน้าที่เบี่ยงเบนทิศทางของน้ำไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่งตามต้องการ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับทำนบพระร่วงนั้น พบโดยทั่วไปบนพื้นที่ลาดเอียงของภูมิประเทศรอบเมืองสุโขทัย ที่พบมากที่สุดอยู่บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันตกติดต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง แต่ก็มิได้เรียกว่าทำนบพระร่วง คงมีเพียงคันดินเป็นแนวเชื่อมระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมาเท่านั้นที่มีชื่อเรียกว่า ทำนบพระร่วง อาจจะเป็นด้วยว่า เห็นเป็นคันดินชัดเจนที่สุดและชาวบ้านแถบนั้นรู้จักกันมานานแล้วก็ได้ แม้ว่าปัจจุบันคันดินทำนบพระร่วงของเดิมจะไม่เหลือสภาพให้เห็นอีกแล้ว แต่เขื่อนดินของกรมชลประทานที่สร้างขึ้นมาใหม่ซึ่งทำหน้าที่ต่างไปจากคันดินของเดิม ก็ยังถูกเรียกว่า ทำนบพระร่วง แทนทำนบพระร่วงแห่งนี้นักวิชาการหลายท่านได้เรียกชื่อเป็น สรีดภงส์ ตามชื่อที่ปรากฏใน จารึกหลักที่ 1 (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ดังนั้น ในปัจจุบันสถานที่แห่งนี้นอกจากจะมีชื่อเรียกตามคำท้องถิ่นว่า "ทำนบพระร่วง" แล้ว ยังเรียกชื่อตามความเข้าใจของนักวิชาการดังกล่าวว่า "สรีดภงส์" ด้วย