ไตรภูมิพระร่วง 
         ไตรภูมิพระร่วง หรือ ไตรภูมิกถา คือ วรรณกรรมชิ้นเอกยุคกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาที่ 1(ลิไทย) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อพ.ศ. 1888 นับเป็นเวลา 7 ปีก่อนที่จะเสด็จออกผนวชในพ.ศ. 1905 แสดงให้เห็นถึงความสนพระทัยในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ไตรภูมิกถาเป็นวรรณคดีไทยที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ตราบเท่าจนปัจจุบัน เพราะได้รวบรวมเอาความรู้จากคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง 32 คัมภีร์ในการรวบรวมข้อมูล ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา และปกรณ์พิเศษ นับว่าเป็นการอ้างอิงที่หาได้ยากในหนังสือรุ่นเก่าเช่นนี้ เป็นเรื่องราวให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสลดหดหู่และหวาดกลัวในการกระทำบาป เกิดความรู้สึกรื่นเริงยินดีในบุญกุศล อาจหาญในการมุ่งมั่นกระทำคุณงามความดี ไตรภูมิกถาจึงเป็นทั้งคำสาปแช่ง และคำสั่งสอนสรรเสริญ เป็นกรอบสังคมมิให้ออกนอกลู่นอกทางจนเกิดความสับสนวุ่นวาย และยังช่วยในการแผ่ธรรมานุภาพ เผยแพร่พุทธศาสนา เป็นผลให้อาณาจักรของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) มีความสงบสุข 
          สาระสำคัญของไตรภูมิกถา คือ พรรณนาถึงเรื่อง การเกิด การตายของสัตว์ทั้งหลายว่าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้ง 3 (ไตรภูมิ) คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิด้วยอำนาจของบุญและบาปที่ตนได้กระทำแล้ว จบเรื่องราวการกำเนิด (เกิด) การตาย (เทวดาจุติ) ของสัตว์ทุกชนิดในภูมิทั้ง 3 แล้วเป็นการพรรณนาถึงภูเขา แม่น้ำ ในจักรวาล ซึ่งมีเขาพระสุเมรุราชเป็นแกนกลาง แวดล้อมด้วยกำแพงน้ำสีทันดรสมุทรและภูเขาสัตตบรรพต อันประกอบด้วย ภูเขายุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัศนะ เนมินทร วินันตกะ และอัสสกัณณะ จากนั้นก็เป็นเรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวนพเคราะห์ ดาวทั้งหลายในจักรวาล ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกให้เรารู้วัน เดือน ปี ฤดูกาล และบ่งบอกให้เรารู้จักเหตุดี เหตุร้ายนานา นอกจากนี้ก็เป็นการพรรณนาทวีปทั้ง 4 รอบภูเขาพระสุเมรุราช และเน้นลงที่ชมพูทวีปซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุราชและเป็นที่อยู่แห่งพญาครุฑ
          มีการกล่าวถึงกัปกัลป์ วิธีการกำหนดอายุของสัตว์และโลกทั้ง 3 ภูมิ การวินาศ การอุบัติ น้ำประลัยกัลป์ การสร้างโลกสร้างแผ่นดินตามคติพราหมณ์ ไตรภูมิกถาจบลงด้วยนิพพานกถาว่าด้วยนิพพานสมบัติของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย วิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน อันเป็นวิธีตรงและถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธศาสนา