ไม้ชำระพระร่วง
        
อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้เล่าว่า เมื่อเด็ก ๆ เคยเที่ยวป่าเป็นครั้งคราว และได้ตัดเอาไม้ชนิดหนึ่งมาทำด้ามขวาน เป็นไม้เหนียวและทนทานดี แต่เวลามือเป็นเหงื่อแล้วจับด้ามขวาน หรือด้ามขวานนั้นถูกน้ำก็เกิดมีกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นอุจจาระ สอบถามผู้ใหญ่ก็บอกชื่อไม้ชนิดนั้นว่า ไม้ชำระก้นพระร่วง และเล่านิยายให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งพระร่วงประพาสป่าเสด็จไปลงพระบังคน เสร็จแล้วทรงหยิบไม้ใกล้ ๆ พระองค์มาชำระแล้วโยนทิ้งไป ไม้นั้นก็เกิดเป็นต้น มีพรรณแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ ต่อมาท่านอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ได้สอบถามอาจารย์คิด สุวรรณสิทธิ ผู้เชี่ยวชาญกระทรวงเกษตร ท่านได้กรุณาอธิบายว่า ไม้นี้มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Celtis cinnamomea ปัจจุบันเรียกว่า Celtis timorensis ชื่อพื้นเมืองในภาคเหนือที่ลำปางเรียกว่า แก้งขี้พระร่วง ชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยไม่ปรากฏว่าเป็น ไม้ชำระก้นพระร่วง ชื่อที่ใกล้เคียงคือชื่อทางลำปาง ไม้ชนิดนี้มีทั่วไปตามป่าดิบในประเทศไทย ไม่ค่อยมีมากเหมือนไม้ชนิดอื่น ๆ มีในประเทศโซนร้อน เช่น พม่า (เมียนมาร์) มลายู (มาเลเซีย) ลังกา อินเดีย 
          ลักษณะทั่วไป เส้นใบข้าง 1-2 เส้น ใกล้ยอด เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันไดเชื่อม เส้นใบหลัก 3 เส้น กิ่งก้านอ่อนและก้านดอกมีขนละเอียดสีน้ำตาลอมส้ม ดอกสมบูรณ์เพศและผลอยู่ในช่อที่แตกสาขา ยาวถึง 6 เซนติเมตร ก้านดอกร่วม2-3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและเกสรตัวผู้อย่างละ 5 อัน