ผ้าทอหาดเสี้ยว

          ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยมีหมู่บ้านทอผ้าพื้นบ้านอยู่สี่หมู่บ้าน คือ บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่ และบ้านแม่ราก ผ้าที่ผลิตในบริเวณหมู่บ้านเหล่านี้มักเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ผ้าหาดเสี้ยว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบริเวณบ้านหาดเสี้ยวอยู่ใกล้ถนน การคมนาคมสะดวก เป็นแหล่งกลางในการซื้อขายผ้าทอพื้นบ้าน แม้ผ้าที่ทอจากเขตอื่นของสุโขทัยที่มีขายอยู่ในบริเวณบ้านหาดเสี้ยวก็มักถูกเรียกรวมไปว่า เป็นผ้าหาดเสี้ยวด้วย

          ชาวหาดเสี้ยวส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายลาวพวนที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองพวนตอนใต้ ของเมืองหลวงพระบางในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บางกลุ่มไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบางท้องที่ของจังหวัดปราจีนบุรี มหาสารคาม และที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี 

          ชาวไทยพวนปัจจุบันที่ตำบลหาดเสี้ยวเป็นกลุ่มชนที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณี ดั้งเดิมของตนไว้โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าและการตีเหล็ก การทอผ้าในบริเวณหาดเสี้ยวเป็นประเพณีที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันตลอดมาในหมู่ผู้หญิง เพราะถือว่าการทอผ้าเป็นคุณสมบัติของผู้หญิงทุกคนที่จะต้องหัดทอผ้าให้เป็นก่อนอายุ 16 ปี โดยเริ่มด้วยการหัดกรอด้ายแล้วเริ่มทอผ้าตีนจก ซึ่งถือว่าเป็นผ้าทอที่มีกรรมวิธียุ่งยากที่สุด เมื่อทอผ้าตีนจกได้แล้วจะสามารถทอผ้าชนิดอื่นได้ไม่ยาก ดังนั้นหญิงสาวแทบทุกคนจึงมีผ้าซิ่นตีนจกประจำตัวแทบทุกคน เพราะซิ่นตีนจกเป็นผ้าสำคัญสำหรับนุ่งในพิธีต่าง ๆ นอกจากนี้ลักษณะทางสังคมยังกำหนดให้ผู้หญิงที่จะออกเรือนแต่งงานเป็นผู้เตรียมเครื่องใช้ไม้สอยในการออกเรือนที่เกี่ยวเนื่องกับผ้าแทบทั้งสิ้น เช่น ที่นอน ผ้าหลบนอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า ย่าม และผ้าขาวม้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบังคับให้ผู้หญิงต้องเป็นผู้ผลิต เป็นผู้ทอผ้าขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตของตน ครั้นเมื่อสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผ้าทอพื้นบ้านที่เคยผลิตใช้ในครอบครัวก็เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย จนในปัจจุบันชาวหาดเสี้ยวจำนวนไม่น้อยที่ยึดการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก นอกจากบางส่วนที่ยังยึดอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก และทอผ้าเป็นอาชีพรอง

       

          ผ้าทอพื้นบ้านที่ทอจำหน่ายทั่วไปของชาวหาดเสี้ยว ได้แก่
 
       ผ้าห่มนอน หรือผ้าหลบนอน เป็นผ้าฝ้ายเนื้อหนา ลายขัดแบบผ้าขาวม้า แต่ตาใหญ่สลับสี 
 
          หมอนผา หรือหมอนขวาน และหมอนสี่เหลี่ยมสำหรับหนุนนอน เป็นหมอนมีลวดลายหน้าหมอนเช่นเดียวกับหมอนอีสาน
 

          ผ้าขาวม้า เป็นผ้าขาวม้าผ้าฝ้ายทอเป็นตาสี่เหลี่ยมสลับสี แต่ถ้าเป็นผ้ากราบพระจะมีลวดลายเป็นรูปสัตว์ที่เชิงผ้า เป็นรูปม้า ช้าง คนขี่ม้า และลายเรขาคณิต 

          ผ้าเช็ดหน้า มักทอด้วยฝ้ายสีขาวยกดอกในตัว กว้างประมาณสองคูณสี่คืบ ที่เชิงทั้งสองข้างทอเป็นรูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า หรือคนขี่ม้าประกอบลายเรขาคณิต แต่เดิมใช้ในพิธีแต่งงานสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาว ใช้เช็ดหน้าเวลาเช้าวันรุ่งขึ้นของการแต่งงานแล้วเก็บไว้เป็นสิริมงคล ปัจจุบันผ้าประเภทนี้ได้ประยุกต์รูปแบบและลวดลายเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่เป็นต้น

          ผ้าห่ม เป็นผ้าห่มคลุมออกนอกบ้านหรือห่มไปวัดหรืองานพิธี เป็นผ้าฝ้ายค่อนข้างหนาทอด้วยหูกหน้าแคบจึงต้องใช้สองผืนผนึกต่อกันตรงกลาง กว้างประมาณ 90 เซนติเมตร ยาวประมาณ 150 เซนติเมตร มักทอยกดอกด้วยไหมสีดำหรือฝ้ายย้อมคราม ลายละเอียดเรียกว่า ลายดอกพริกไทย ที่ขอบทอเป็นลายสีดำ สีเหลือง และสีแดงสลับกัน เชิงด้านหนึ่งจะมีลายกว้างเป็นพิเศษ แต่อีกด้านหนึ่งจะแคบกว่า และมักทำเป็นเชิงครุย ปล่อยเส้นด้ายเป็นเกลียวไว้ 

          ย่าม เป็นของใช้ที่ทำจากผ้าทอที่มีชื่อเสียงอีกชนิดหนึ่งของหาดเสี้ยว แต่เดิมมักเป็นย่ามสีขาวลายเป็นเส้นดำสลับลงมา มีสามขนาด ขนาดใหญ่พิเศษใช้ใส่อุปกรณ์การทอผ้า ย่ามชนิดนี้มักแขวนประจำหูก หรือใส่ด้ายดิบไปย้อม หรือใส่ผ้าที่ทอแล้วไปขาย อีกชนิดหนึ่งใช้เป็นย่ามติดตัวเดินทาง และอีกชนิดหนึ่งเป็นย่ามขนาดเล็ก ผู้เฒ่าใช้ใส่ของกระจุกกระจิกติดตัวไปวัด ปัจจุบันแม้ย่ามชนิดนี้จะยังมีพอใช้กันอยู่ทั่วไปก็ตาม แต่ก็มีการทอย่ามเป็นสีต่าง ๆ โดยเฉพาะสีแดงจำหน่ายอยู่ทั่วไป

          ซิ่นตีนจก ซิ่นหาดเสี้ยวแต่เดิมเป็นซิ่นต่อกันสามชิ้น ลายขวางแบบซิ่นล้านนาไทย มักเป็นผ้าฝ้ายอาจมีไหมสลับบ้างแต่ไม่ใคร่พบ ซิ่นหาดเสี้ยวมี 2 ชนิด คือ ซิ่นธรรมดาใช้ใส่อยู่กับบ้านและทำงาน และซิ่นตีนจกที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานบุญ งานเทศกาลและพิธีการสำคัญ ซิ่นธรรมดามักเป็นซิ่นพื้นลายขวางลำตัว มีเชิงเป็นแถบสีดำและสีแดงอมส้ม ส่วนซิ่นตีนจกนั้นจะประกอบด้วยสามส่วนคือ หัวซิ่น (ส่วนบน) ตัวซิ่น (ส่วนกลาง) และตีนซิ่น (ส่วนล่าง) ตีนจกคือเชิงซิ่นที่ใช้เทคนิคการควักหรือล้วงด้วยมือ ซึ่งอาจใช้ขนเม่น หรือไม้ช่วยก็ได้ ทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าสลับสีสันสวยงาม ลายตีนจกของหาดเสี้ยวจะมีลักษณะการทอที่ทอคว่ำหน้าลายลง ลวดลายที่ทอเป็นลายเรขาคณิตเป็นหลัก ลายที่พบมีอยู่ 9 แบบด้วยกัน คือ

ลายสิบหกดอกตัด (ลายสิบหกขอ)
ลายสิบสองดอกตัด (ลายแปดขอ)
ลายสี่ดอกตัด (ลายสี่ขอ)
ลายเครือใหญ่ (ลายดอกเครือใหญ่)
ลายเครือกลาง (ลายดอกเครือกลาง)
ลายเครือน้อย (ลายดอกเครือน้อย)
ลายอ่างน้ำ
ลายสองท้อง
ลายดอกสองท้อง
 

ลายเครือน้อย ลายมน 16 ลาย12 หน่วยตัด

ลาย8 ขอ ลาย4 ขอ ลายน้ำอ่าง

ลายสองห้อง ลายเครือกลาง ลายเครือใหญ่

ลายนกหมู่
 
ลายนกแถว
 
ลายนกคุ้ม
 
ลายนกคาบ
 
ลายฟันปลา
 
เครือขอ
 
โงะ
 
ลายสร้อยลา
 

          ลายใหญ่เหล่านี้จะทอสลับลายหน้ากระดานเล็ก ๆ คั่นเป็นชั้น ๆ สีที่ใช้มักออกวรรณะสีต่าง ๆ แต่หนักไปทางวรรณะสีแดงอมส้ม สีส้ม และสีน้ำตาลปนเหลือง ส่วนลายเล็ก ๆ ที่ย่อมุมและสอดไส้จะเป็นสีเหลือง สีเขียว สีชมพู และสีครามเป็นส่วนใหญ่ 

          ซิ่นตีนจกของบ้านหาดเสี้ยวเป็นผ้าทอพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเด่นชัดและมีความประณีตงดงามอย่างยิ่ง