สุภาษิตพระร่วง

  

          สุภาษิตพระร่วง เป็นมรดกทางด้านภาษาและวรรณกรรมที่สืบทอดกันแต่โบราณ สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นวรรณกรรมแบบมุขปาฐะภาษิตและคำสอน และขยายมาเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์รูปแบบต่าง ๆ เช่น โคลงประดิษฐ์พระร่วง พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ร่ายสุภาษิตพระร่วงฉบับจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ร่ายสุภาษิตพระร่วง ฉบับวัดเกาะ ร่ายสุภาสิทตัง ฉบับวัดลาด อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี กาพย์สุภาษิตพระร่วง ฉบับวัดเกาะ และสุภาษิตพระร่วงคำโคลง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีสำนวนเนื้อหาคำสอนตรงกันเป็นส่วนใหญ่ หากแต่มีการใช้ถ้อยคำภาษาที่ตรงกันบ้าง ผิดแผกไปจากกันบ้าง อันเนื่องมาจากการเรียบเรียงเป็นลายลักษณ์อักษรในต่างยุค ต่างสมัย และต่างถิ่นกัน ภาษิตคำสอนดังกล่าวนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สุภาษิตพระร่วง" แต่ละสำนวนอาจมีชื่อเรียกเฉพาะแตกต่างกันออกไป ข้อคิดคำสอนในสุภาษิตเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรากฐานที่มาร่วมกัน และเป็นความคิดที่ตกทอดสืบต่อกันมาทางมุขปาฐะ คืออาศัยปากต่อปากเล่าสู่กันฟัง ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1800 มาถึงสมัยที่พระร่วงขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงสุโขทัย ข้อคิดคำสอนดังกล่าวก็แพร่หลายทั่วไปเชื่อกันว่าเป็นข้อคิดคำสอนที่พระร่วงทรงใช้อบรมสั่งสอนพลเมืองของพระองค์ให้ประพฤติปฏิบัติในแนวทางที่ถูกต้องดังความตอนหนึ่งในโคลงประดิษฐ์พระร่วง ฉบับพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่ว่า

พระองค์พงศ์เผ่าสร้อย สรรเพชญ์
ภาคญาณสารแสวงเสร็จ สิ่งสิ้น
กล่าวกลอนสอนแสดง ผดุงโลกย์
ไพเราะเสนาะสนิทลิ้น เลิศล้นสกลไกร (๑)
 
นอกจากนี้ในหนังสือเล่มเดียวกันยังได้ระบุตอนท้ายอีกว่า
 
พระร่วงล่วงโลกย์ล้ำ คำสอน
สัตว์นรากรนร กราบเกล้า
จำบทพจน์รสกลอน พจนเลิศ
เสวยสวรรค์สรรพสุขเท้า โมกขม้วนควรแสวง (๕๓)
มฤธุรรสพจนารถไว้ เป็นเฉลิม
ตรีภพจบสกลเจิม แจ่มหล้า
ธรรมศาสตร์อาทิคุณเผดิม ผดุงโลกย์
ศุภผลดลแด่นฟ้า เฟื่องฟุ้งคุ้งสวรรค์ (๕๔)

          คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้คัดสรรสุภาษิตที่มีคุณค่าของชาติ ซึ่งหาอ่านได้ยาก นำมาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มใหม่ชื่อว่า ประชุมสุภาษิตพระร่วง เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในชุดวรรณกรรมภาษิตและคำสอน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมที่มีค่าของชาติให้คงอยู่สืบไป เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และผู้สนใจทั่วไปใช้ศึกษา และให้ข้อคิดแนวทางประพฤติปฏิบัติตน 

ตัวอย่าง
ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย
อย่าโดยคำคนพลอด เข็นเรือทอดทางถนน

น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ

ที่สุ้มเสือจงประหยัด
จงเร่งระมัดฟืนไฟ ตนเป็นไทยอย่าคบทาส

ยอครูยอต่อหน้า

ยอข้าเมื่อแล้วกิจ
ยอมิตรเมื่อลับหลัง ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ

อย่าตีงูให้กา

อย่าตีปลาหน้าไซ
อย่าใจเบาจงหนัก อย่าตีสุนัขห้ามเห่า