เฟอร์นิเจอร์ไม้สักทอง

          เดิมราษฎรในท้องที่ตำบลบ้านกล้วยอำเภอเมืองประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ก็มีฝีมือทางด้านการช่างไม้ เมื่อเสร็จฤดูทำนาก็หันมาประกอบอาชีพซ่อมตกแต่งตู้โบราณเป็นงานเสริม ต่อมามีลูกค้าทวีจำนวนมากขึ้นจากหลายจังหวัดใกล้เคียงและจากกรุงเทพมหานคร การทำตู้โบราณจึงเกิดขึ้นโดยช่างไม้ผู้มีฝีมือดีจัดหาไม้สักทองมาประกอบทำตู้โบราณขึ้นมาใหม่ โดยยึดรูปทรงตู้โบราณของเก่าไว้ ประชาชนในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจึงหันมาประกอบอาชีพทำตู้โบราณมากขึ้น ต่อมาทางจังหวัดสุโขทัยได้เข้าไปช่วยแนะนำให้ราษฎรรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา คณะกรรมการสหกรณ์ได้ดำเนินการจดทะเบียนสหกรณ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 โดยใช้ชื่อว่า "สหกรณ์บริการหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ไม้บ้านขวาง จำกัด" ปัจจุบันมีโรงงานแปรรูปไม้และโรงค้าสิ่งประดิษฐ์รวม 7 โรงงาน

          ไม้สักทองที่นำมาทำตู้โบราณนั้น เป็นไม้ถูกต้องตามกฎหมาย สหกรณ์ฯ บ้านขวางได้แต่งตั้งคณะกรรมการเป็นผู้จัดหาซื้อไม้ โดยในการซื้อไม้แต่ละครั้งนั้น สมาชิกจะรวมกันเป็นกลุ่มแต่ละโรงงานแล้วนำเงินให้คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายไปจัดหาซื้อไม้ท่อนจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือตามสวนป่าต่าง ๆ แล้วนำไม้สักท่อนแปรรูปที่โรงเลื่อยองค์การ อุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) หรือโรงเลื่อยเอกชนแล้วนำไม้สักที่แปรรูปแล้วส่งจังหวัดสุโขทัยให้สมาชิกสหกรณ์ ฯ ที่สั่งซื้อนำไปแปรรูปเป็นหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ตู้โบราณต่อไป

          สมาชิกที่ประจำอยู่แต่ละโรงงานจะผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าสั่งทำ ในการทำตู้โบราณแต่ละชิ้นจะมีองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องผสมผสานช่างศิลปะด้านต่าง ๆ แล้วนำมารวมกัน เช่น ช่างทำตู้โบราณ ช่างทำลวดลาย ช่างกลึงไม้ ช่างแกะลาย ช่างทาสี ช่างกระจก ผลิตภัณฑ์ตู้โบราณหนึ่งชิ้นจึงทำรายได้ให้หลายครอบครัวมีงานทำ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมศิลปหัตถกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดสุโขทัยอีกด้วย