เป็นวัดที่ประดิษฐาน หลวงพ่อศิลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรกที่งดงามที่สุดองค์หนึ่ง  ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเสลี่ยม หมู่ที่ 3  
ตำบลทุ่งเสลี่ยม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2482

          ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันที่ทางวัดทุ่งเสลี่ยมจัดงานสักการะหลวงพ่อศิลา ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพุทธศาสนิกชน จากอำเภอทุ่งเสลี่ยม และจากอำเภอต่างๆ ทั่วทุกจังหวัดมาร่วมงานสักการะหลวงพ่อศิลาเป็นจำนวนมาก ในงานจะมีขบวนแห่ครัวทาน ขบวนพานพุ่มที่สวยงาม 

         หลวงพ่อศิลา

          ลวงพ่อศิลา เป็นนามที่ชาวบ้านวัดทุ่งเสลี่ยมเรียกขาน พระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ สกัดจากหินทรายสีเทา ทรงกรองศอพาหุรัด กุณฑล สวมศิราภรณ์ สวมมงกุฎเทริด พระพักตร์ทรงสี่เหลี่ยม ประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานขนาดนาค 3 ชั้น นาคที่ปรกอยู่เหนือพระเศียรนั้นมี 7 เศียร ด้านหลังหางนาคพาดขึ้นมาถึงลำตัว มีลวดลายแบบศิลปะลพบุรี องค์พระวัดจากฐานถึงปลายยอดเศียรนาคสูง 85.50 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 44 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 126.5 กิโลกรัม 

         ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงประทานความเห็นไว้ว่า 

          "..พระพุทธรูปองค์นี้ ที่กระบังหน้ามีแนวขึ้นมาตรงกลาง ลักษณะเช่นนี้เป็นรูปแบบของโบราณวัตถุที่ทำขึ้นในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า ศิลปะแบบลพบุรี เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากศิลปะเขมร เพราะแม้ลักษณะทั่วไปจะดูคล้ายกัน แต่พระพักตร์นั้นไม่เป็นแบบขอม" 

          คำแนะนำที่ทรงประทานนี้ ได้รับการยืนยันโดย นายอาวุธ สุวรรณาศรัย หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งกรมศิลปากรได้ส่งมาตรวจพิสูจนอายุและคุณค่าทางศิลปวัตถุขององค์พระ ดังนี้ 

          "องค์พระพุทธรูปศิลานั้นแกะสลักจากหินทรายเทา มีความสมบูรณ์และมีลักษณะพิเศษที่ชัดเจนมาก กล่าวคือ มีผ้าทิพย์รองรับตัวองค์พระ ซึ่งปกติแล้วจะเดินเป็นเส้นตรงมากกว่า นอกจากนี้บริเวณด้านหลังมีลายดอกจันที่ขุดลึกลงไปในเนื้อหิน ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นลายขีดธรรมดา สาเหตุที่องค์พระมีความสมบูรณ์ไม่บุบสลายไปตามกาลเวลา น่าจะเป็นเพราะตั้งอยู่ในถ้ำ ไม่ได้จมอยู่ในดินเหมือนองค์อื่นๆ ที่เคยขุดพบ ลักษณะนั้นเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก สิลปะผสม ลักษณะสำคัญซึ่างบ่งชี้ว่า ไม่ใช่ศิลปะแบบบายนแท้ ก็คือ พระพักตร์จะไม่แย้มพระโอษฐ์ ผิดกับเทวรูปกษัตริย์ชัยวรมัน ซึ่งส่วนใหญ่จะแย้มพระโอษฐ์ทุกพระองค์ จากการตรวจสภาพเนื้อหิน ยืนยันได้ว่าเป็นของแท้ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นศิลปะลพบุรีที่ได้รับอิทธิพลจากเขมร มีคุณค่ามากด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ …" 

          แต่เดิมนั้นหลวงพ่อศิลาประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำเจ้าราม ซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ชาวบ้านได้ไปหามูลค้างคาวในแถบถ้ำเจ้าราม ได้พบพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งเล่าให้ฟังว่า ภายในถ้ำเจ้ารามมีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่หลายองค์ และองค์หนึ่งมีความงามโดดเด่นกว่าองค์อื่นใด เป็นพระพุทธรูปศิลานาคปรก

          เมื่อกลับถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านก็นำความมาเล่าให้พระอภัย เจ้าอาวาสวัดทุ่งเสลี่ยม ซึ่งได้หารือกับผู้ใหญ่บ้านว่า จะนำพระพุทธรูปมาไว้ที่วัดทุ่งเสลี่ยม แต่เนื่องจากพระอภัยนั้นสูงอายุ เดินทางไม่ไหว จึงได้เลิกล้มความตั้งใจ ความได้ล่วงรู้ไปถึงครูบาก๋วน เจ้าอาวาสวัดแม่ปะหลวง ตำบลแม่ปะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งท่านก็มีความศรัทธาจึงได้รวบรวมคนเดินทางไปอัญเชิญพระพุทธรูปปางนาคปรก ณ ถ้ำเจ้าราม เมื่อคณะเข้าสู่ภายในถ้ำเจ้าราม ได้พบพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งมีฦูงค้างคาวบินวนเวียนอยู่อย่างมากมาย ครูบาก๋วนจึงได้ทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปออกจากถ้ำ และเดินทางรอนแรมมาด้วยความยากลำบาก ผ่านหนองปลาซิว (บ้านห้วยทราย) หนองส้มป่อย (บ้านน้ำดิบ) จนกระทั่งถึงอำเภอทุ่งเสลี่ยม 

          เมื่อชาวบ้านทุ่งเสลี่ยมรู้ข่าว จึงพากันจัดขบวนดนตรีพื้นเมือง และขบวนฟ้อนรำมาต้อนรับด้วยความปีติยินดีถ้วนหน้า จวบจนขบวนอัญเชิญพระพุทธรูปนาคปรกเดินทางมาถึงวัดทุ่งเสลี่ยม ก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น ท้องฟ้าที่แจ่มใส แสงแดดที่ร้อนแรงของเดือนเมษายนก็ถูกบดบังด้วยเมฆฝน เกิดฝนตกหนักเป็นเวลานาน เมื่อฝนหยุดตกก็มีฝูงค้างคาวบินมาวนเวียนเหนือบริเวณวัดทุ่งเสลี่ยมแล้วจึงบินกลับถ้ำเจ้าราม 

          ชาวบ้านได้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปศิลา จึงไม่ยอมให้ครูบาก๋วนอัญเชิญกลับไปยังอำเภอเถิน เจ้าอาวาสวัดทุ่งเสลี่ยมจึงได้หารือไปยังเจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก ซึ่งเจ้าคณะอำเภอได้ตัดสินให้ประดิษฐานไว้ ณ วัดทุ่งเสลี่ยม ชาวบ้านได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปนาคปรกนี้ว่า พระศิลา เพราะเห็นว่าแกะสลักมาจากหินทราย ครูบาก๋วนจึงได้จำลองพระศิลา กลับไปประดิษฐานไว้ที่วัดปะหลวง อำเภอเถิน จังหวัดลำปางด้วยใจศรัทธา 

          ครั้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนเข้ามาโจรกรรมพระศิลาไปจากพระอุโบสถใหญ่ วัดทุ่งเสลี่ยม พระศิลาจึงได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย 

          อีก 17 ปีต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2537 กลุ่มอนุรักษ์ชาวไทยในต่างแดนได้พบข่าวพระศิลาในประเทศอังกฤษจึงได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชนว่า ได้พบภาพพระพุทธรูปปางนาคปรก ในหนังสือประมวลศิลปวัตถุ เพื่อประมูลขายของสถาบันโซธบี (Sotheby Institute) ในกรุงลอนดอน หน้า 52 

          ความทราบถึงชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยม ชาวบ้านจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และกรมศิลปากรเพื่อให้ทางราชการติดตามทวงถามพระพุทธรูปที่หายไป ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน กรมศิลปากรได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาหาแนวทางติดตามทวงคืนพระพุทธรูปศิลา 

          ต่อมาหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษได้แจ้งให้ไทยทราบว่า มีผู้ประมูลพระพุทธรูปศิลาไปและถูกเคลื่อนย้ายไปที่สหรัฐอเมริกาแล้วทนายความของผู้ครอบครองได้ติดต่อเข้ามาว่า ผู้ครอบครองไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธรูปที่ได้มาจากการโจรกรรม แต่จะคืนให้ประเทศไทยโดยเรียกร้องค่าชดเชยเป็นเงิน สองแสนเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,200,000 บาท ในครั้งแรกทางรัฐบาลไทยพยายามจะติดตามทวงคืนพระพุทธรูปศิลาโดยอาศัยกรณีที่คล้ายคลึงกันกับการหายของรูปปั้นเทพีในประเทศอิตาลี ที่สามารถติดตามทวงคืนได้โดยดำเนินการผ่านทางกระทรวงยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่เมื่อคณะผู้แทนไทย นำโดยศาสตราจารย์อดุล วิเชียรเจริญ ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจเดินทางไปถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ทางหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา(เอฟ บี ไอ) ได้แจ้งให้ทราบว่า การติดตามเรื่องนี้มิใช่คดีอาญา จึงอยู่นอกเหนืออำนาจของเอฟบีไอ รวมถึงการยื่นฟ้องตามสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างสองประเทศก็ไม่สามารถกระทำได้ 

          ในที่สุดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 คณะกรรมการติดตามพระพุทธรูปศิลา นำโดยร้อยตำรวจโท เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้นได้เดินทางไปตรวจสอบพระพุทธรูปตามรอยตำหนิ และมอบค่าชดเชยรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายเป็นจำนวนเงินสองแสนหนึ่งพันเหรียญสหรัฐ ซึ่งนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารฯ เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบให้การสนับสนุนค่าชดเชยนำพระพุทธรูปล้ำค่าของไทยกลับคืนมา

          วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ขบวนอัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับถึงประเทศไทย ณ สนามบินดอนเมือง มีชาวทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัยได้เหมารถบัสจำนวนกว่า 10 คัน มารอรับองค์หลวงพ่อศิลา ภาพมหัศจรรย์ที่ปรากฏ คือ มีค้างคาวบินวนเวียนในสนามบินดอนเมือง ทั้งทั้งที่ความสว่างไสวของไฟสปอต์ไลท์ในสนามบินดอนเมืองนั้นไม่แพ้แสงแดดเวลากลางวัน ซึ่งเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานหลายคนได้ยืนยันว่า เท่าที่ทำงานมาหลายสิบปีไม่เคยเห็นเช่นนี้มาก่อน 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะดำเนินการอัญเชิญหลวงพ่อศิลา นำโดยร้อยตำรวจโท เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ และผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำโดยนายธนินทร์  เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ นายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าเฝ้าเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายหลวงพ่อศิลา เนื่องในปีกาญจนาภิเษก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 และรับพระราชทานคืน พร้อมทั้งอัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ วัดทุ่งเสลี่ยมดังเดิมเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540

          ชาวทุ่งเสลี่ยมจึงได้จัดงานสมโภชเฉลิมฉลองหลวงพ่อศิลาเป็นประจำทุกปีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปัจจุบันหลวงพ่อศิลาประดิษฐานอยู่ในมณฑปวิหารวัดทุ่งเสลี่ยม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย โดยมีประชาชนจากทั่วประเทศเดินทางมากราบไหว้ด้วยความศรัทธาเป็นประจำตลอดมา