ประชากร 

            ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดสุโขทัยสืบเชื้อสายมาจากชาวไทยดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้ โดยมีขบบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนสำเนียงภาษาถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีประชากรย้ายถิ่นมาจากจังหวัดอื่นๆ ไม่มากนัก นอกจากนี้เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นชาวไทยภูเขา ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เย้า และลีซู ส่วนหนึ่งอาศัยในดินแดนนี้มานานแล้ว และอีกส่วนหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดลำปาง น่าน พะเยา เชียงราย แพร่ ตาก และเพชรบูรณ์ ปัจจุบันคนไทยกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในเขตตำบลบ้านแก่ง และตำบลแม่สา อำเภอศรีสัชนาลัย
ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2543 *จังหวัดสุโขทัยมีประชากรทั้งสิ้นรวม 627,088 คน เป็นชาย 306,571 คน หญิง 320,517 คน อำเภอที่มีประชากรมากที่สุดได้แก่ อำเภอศรีสัชนาลัย มีจำนวน 98,145 คน รองลงมาได้แก่อำเภอเมืองสุโขทัย มีจำนวน 94,893 คน และอำเภอศรีสำโรง มีจำนวน 74, 661 คน 
            อำเภอที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย 164 คน/ตร.กม. รองลงมาได้แก่ อำเภอศรีนคร 150 คน/ตร.กม. เมื่อพิจารณาเป็นรายอำเภอแล้ว อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอศรีนคร อำเภอคีรีมาศ มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่อำเภอเมืองสุโขทัย เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี เทศบาลเมืองสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอกงไกรลาศ อำเภอบ้านด่านลานหอย มีจำนวนประชากรลดลง
* ที่มา กระทรวงมหาดไทย, 2545 ใน "ข้อมูลสถิติ 75 จังหวัด" ที่ http://www.moi.go.th/ 

          
การศึกษา 

           จังหวัดสุโขทัยมีจำนวนสถานศึกษาแยกตามระดับการศึกษา ดังนี้
                   - โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 351 แห่ง
                   - โรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 27 แห่ง
                   - อื่นๆ จำนวน 30 แห่ง
                   - สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 3 แห่ง ที่สำคัญได้แก่

           1) มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย

           มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย ตั้งอยู่ ณ บริเวณทุ่งวน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองเก่า อยู่ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 18 กิโลเมตร และห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อันเป็นมรดกโลก (World Heritage) ประมาณ 4 กิโลเมตร เปิดทำการสอนในระดับปริญญาตรี 4 สาขาวิชา คือ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบริหารทั่วไป คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ และคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน ปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอน สาขารัฐศาสตร์ และสาขาบริหารธุรกิจ
            มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัยมีพื้นที่ 803 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 แปลง คือ
 
            แปลงที่ 1 จำนวนพื้นที่ 286 ไร่ 14 ตารางวา เป็นที่ตั้งอาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย (อาคารเรียนชั้นปริญญาโท) 1 หลัง และอาคารพระแม่ย่าสุโขทัย (อาคารเรียนชั้นปริญญาตรี) 1 หลัง รวมทั้งสิ้น 2 หลัง เป็นอาคารชั้นเดียว แบบสถาปัตยกรรมทรงไทย โดยนายนรินทร์ พานิชกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยในขณะนั้น  เป็นผู้ริเริ่มโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้ร่วมก่อสร้างอาคารเรียนระดับปริญญาตรี และปริญญาโท จำนวน 2 หลัง เป็นงบประมาณที่จังหวัดสุโขทัย จัดหาร่วมกับพ่อค้าประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2542 และเสด็จเป็นองค์ประธาน เปิดอาคารเรียนของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2543 

            แปลงที่ 2 และแปลงที่ 3 เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์"ทุ่งพระบาทน้อย" จำนวน 287 ไร่ และ 229 ไร่ตามลำดับ ปัจจุบันกำลังดำเนินการวางแผนแม่บท สำหรับที่ดินแปลงที่ 1 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการจัดตั้งอาคารชุมสายโทรศัพท์รามคำแหงบนเนื้อที่ขนาด 10 X 10 เมตร (บริเวณสุดแนวเขตรั้วของอาคารเรียนชั้นปริญญาตรี) เพื่อให้สามารถบริการโทรศัพท์ระบบสายเคเบิ้ล และเลขหมายต่างๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งประชาชนในบริเวณใกล้เคียงก็จะได้รับประโยชน์จากการขอติดตั้งโทรศัพท์ใหม่ด้วย (ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารใช้ระบบวิทยุโทรศัพท์) ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 จำนวนประมาณ 50 ไร่ ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มอบหมายให้จังหวัดสุโขทัยดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังได้ปรับปรุง ภูมิทัศน์ พร้อมทั้งจัดการวางแผนทำแนวป้องกันน้ำป่าและไฟป่า ซึ่งเกิดขึ้นประจำทุกปี พร้อมกันนี้ได้วางแผนเชิงรุกเกี่ยวกับการจัดการการท่องเที่ยว การวิจัย และบริการชุมชน เพื่อให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีส่วนช่วยส่งเสริมอาชีพของชุมขนในบริเวณใกล้เคียง และเสริมสร้างระบบการเรียนรู้คู่คุณธรรม โดยให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมวางแผนและจัดทำโครงการด้วย 

           2) วิทยาลัยพลศึกษาสุโขทัย

           3) ศูนย์วิทยพัฒนาบริการ (มสธ.)

          
ศาสนา 

           ประชากรในจังหวัดสุโขทัยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 615,978 คน
คิดเป็นร้อยละ 99.86 นับถือศาสนาคริสต์จำนวน 878 คน คิดเป็นร้อยละ 0.14 
จำนวนวัด 287 แห่ง จำนวนสำนักสงฆ์ 106 แห่ง

          
การสาธารณสุข

           ในปัจจุบันการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของจังหวัดสุโขทัย มีทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน สถานบริการสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย แบ่งออกเป็น *
โรงพยาบาลทั่วไป 2 แห่ง จำนวน 625 เตียง
โรงพยาบาลชุมชน 7 แห่ง จำนวน 330 เตียง
โรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง จำนวน 226 เตียง
สถานีอนามัย 118 แห่ง 
สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 1 แห่ง
คลินิกแพทย์ 25 แห่ง
คลินิกผดุงครรภ์ 32 แห่ง
คลินิกทันตแพทย์ 7 แห่ง
ร้านขายยาแผนปัจจุบัน 48 แห่ง
ร้านขายยาแผนโบราณ 7 แห่ง 
* ที่มา กระทรวงมหาดไทย, 2545 ใน "ข้อมูลสถิติ 75 จังหวัด" ที่ http://www.moi.go.th/