ในพ.ศ. 1825 กุบไบลข่านกษัตริย์จีนแห่งราชวงศ์มองโกลได้ส่งทูตชุดแรกมาสุโขทัย แต่ขณะที่เรือแล่นผ่านฝั่งทะเลประเทศจัมปาก็ถูกพวกจามจับกุมและถูกประหารชีวิตเสียก่อนที่จะเดินทางมาถึงสุโขทัย หลังจากที่คณะทูตชุดแรกของกุบไบลข่านประสบความล้มเหลวในการเดินทางมาติดต่อกับสุโขทัยแล้ว กุบไบลข่านก็มิได้ส่งทูตมาติดต่ออีก จนกระทั่งใน พ.ศ. 1835 ปรากฏในหลักฐานของจีนว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์สุโขทัยได้ส่งทูตพร้อมด้วยพระราชสาส์นอักษรทองคำเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับจีน หลังจากนั้นในปี พ.ศ.1836 คณะทูตจีนก็เดินทางมาสุโขทัยอัญเชิญพระบรมราชโองการของจักรพรรดิจีนให้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชไปเฝ้า แต่พระองค์มิได้ปฏิบัติตามแต่ประการใด คณะทูตจีนชุดที่สามเดินทางมากรุงสุโขทัยใน พ.ศ.1837 และชุดสุดท้ายมาในปี พ.ศ.1838

          สรุปในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ส่งทูตเจริญราชไมตรีกับจีน 4 ครั้ง คือ พ.ศ.1835, พ.ศ.1837, พ.ศ.1838, พ.ศ.1840 คณะทูตในสมัยต่อมา  คือ  คณะทูต พ.ศ. 1841 ซึ่งหลักฐานจีนระบุว่าหัวหน้าคณะทูตเป็นรัชทายาทของกษัตริย์สุโขทัย ซึ่งได้อัญเชิญพระราชสาส์นกราบทูลจักรพรรดิว่า "เมื่อพระราชบิดาขี้นครองราชย์ (จักรพรรดิ) พระราชทานอานม้า บังเหียนม้า ผ้าขาว และเสื้อด้ายกรองทอง จึงขอพระราชทานสิ่งของดังกล่าวเช่นกัน…" ปรากฏว่าจักรพรรดิประทานให้แต่เสื้อด้ายกรองทอง แต่ไม่ประทานม้า โดยอ้างว่าสุโขทัยเป็นอาณาจักรเล็ก จะไม่เป็นธรรมแก่อาณาจักรเพื่อนบ้านอื่น ๆ ของสุโขทัย ความสำคัญของข้อความดังกล่าวข้างต้นอยู่ที่ว่า พ่อขุนรามคำแหงคงจะสวรรคตแล้วใน พ.ศ. 1841