สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในปาฐกถาเรื่อง "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ว่า เมืองไทยสมัยดังกล่าวปกครองออกเป็นสองแบบ คือ

          หัวเมืองเหนือในเขตอำนาจของกรุงสุโขทัย ปกครองอย่างบิดาปกครองบุตร (Paternal Government) คือ บิดาธิปไตย

          ส่วนหัวเมืองฝ่ายใต้ หมายถึงดินแดนสุพรรณบุรีและนครชัยศรี มีการปกครองแบบขอม มีพราหมณ์เป็นแม่บท กษัตริย์เป็นเทวราชา ใช้อำนาจปกครองแบบนาย ปกครองบ่าว (Antoevatie Government) 

          เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นครองราชย์ การปกครองพลเมืองยังถือตามคติของคนไทยแต่เดิมอยู่ กล่าวคือ ปกครองอย่างบิดาปกครองบุตร หรือปิตุรักษ์ (Paternalism) ดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงวางพระองค์อย่างบิดาปกครองบุตรด้วยการสอดส่องความเป็นอยู่ของราษฎร ใครทุกข์ร้อนจะทูลร้องทุกข์เมื่อใดก็ได้ โปรดให้แขวนกระดิ่งที่ประตูพระราชวัง เมื่อราษฎรมีทุกข์ก็ไปสั่นกระดิ่งนั้นให้ได้ยินถึงพระกรรณได้เป็นนิจ ดังข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า 

          "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจมันจะกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันโดยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม.."

          วิธีการนี้เป็นที่มาของประเพณีซึ่งเรียกกันว่า "ตีกลองร้องฎีกา"

          ในบรรดาหัวเมืองที่อยู่ไกลออกไปและอยู่ในอำนาจ เช่น เมืองคนที เมืองพระบาง เมืองชัยนาท เมืองแพร่ และเมืองน่านใช้บังคับปกครองแบบภายในวงศ์ญาติ หรือที่เรียกว่า ปิตุบาล(Patriarchal Government) คือ กำหนดให้ทุกเมืองถือว่ากษัตริย์กรุงสุโขทัยเป็นหัวหน้าหรือหัวหมู่กษัตริย์ในราชธานีถือว่าเป็นญาติกับประมุขของหัวเมืองลูกหมู่ ประมุขของแคว้นนั้น ๆ มีอำนาจปกครองผู้คนในหมู่ของตนให้มีความเป็นอยู่สุขสมบูรณ์และเป็นระเบียบเรียบร้อย 

          ส่วนบรรดาอาณาจักรเก่า ๆ ที่เข้ามาเป็นประเทศราชภายหลัง เช่น อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรมอญ อาณาจักรล้านช้าง ทำให้อาณาจักรสุโขทัยยิ่งใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว การปกครองจึงต้องเปลี่ยนไปตามสภาพ เช่น ทางใต้ และทางตะวันตกกจะเป็นรูปแบบสมาพันธ์ (Confederation) ส่วนทางภาคเหนือ จะเป็นรูปแบบภักดิ์วงศ์ (Feudalism)