งานพระแม่ย่า
       กำหนดการจัดงาน ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี สถานที่จัดงานบริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด
       ประวัติความเป็นมา ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 4 กล่าวว่า
       "เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร้าวป่าลาง มีป่าม่วงป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุง ผีเทพยดา ในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี…"
       ในสมัยสุโขทัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คือ เทวดาที่อยู่ที่เขาหลวง (พระขพุง) เชื่อกันว่า คือ พระแม่ย่าในปัจจุบัน พระแม่ย่าเป็นเทวรูปหินสลักจากหินชนวน สูงประมาณหนึ่งเมตรเศษ ประทับยืน ทรงพระภูษาท่อนล่างและไม่ทรงฉลองพระองค์เทวรูปนี้เดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำพระแม่ย่า ซึ่งเป็นเพิงหินขนาดใหญ่บริเวณเขาหลวง อยู่ห่างจากเมืองเก่าสุโขทัยประมาณ 7 กิโลเมตร ต่อมา พ.ศ. 2458 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้รับสั่งให้พระยารามราชภักดี เจ้าเมืองสุโขทัยสมัยนั้นอัญเชิญพระแม่ย่ามาประดิษฐานไว้บนศาลากลาง (หลังเดิม ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว) ต่อมาปี พ.ศ. 2496 จังหวัดสุโขทัยได้สร้างศาลพระแม่ย่าขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัด และอัญเชิญพระแม่ย่าขึ้นประดิษฐาน ปรากฏว่ามีประชาชนมาสักการะบูชากราบไหว้เป็นจำนวนมาก เพราะถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสุโขทัย ทุกปีทางจังหวัดสุโขทัยจะจัดงานเฉลิมฉลองพระแม่ย่าเป็นงานประจำปีร่วมกับงานกาชาดของจังหวัด
       ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการปรับปรุงศาลพระแม่ย่าขึ้นใหม่และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2541