ประวัติ
     
นิมิตร ภูมิถาวร (นามสกุลเดิม ภักดี)
       เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ที่ ตำบลบ้านไร่ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย 
       เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 3 คน 
       บิดามารดาเป็นชาวนา ชื่อ นายมั่น และนางนวม (นามสกุลเดิม ภักดี) ภูมิถาวร 
        อาชีพทำนา สมรสกับนางสมัย ภูมิถาวร เมื่อ พ.ศ.2501 
        มีบุตรธิดา 4 คน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2524

 

      การศึกษา

          เข้าศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านไร่ อำเภอศรีสำโรง ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียน สวรรควิทยา อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย แล้วไปศึกษาที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายหลังสอบได้วุฒิครู พ.ม.

      ประสบการณ์และการทำงาน

          เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเข้าทำงานครั้งแรกที่สหกรณ์ที่ดิน อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาไปเป็นเสมียนที่กรุงเทพฯ อีก 1 ปี จากนั้นไปก็กลับไปสมัครเป็นครูในโรงเรียนชนบทอยู่หลายโรงเรียน จนได้เป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านไร่ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย แล้วลาออกจากราชการมาเขียนหนังสือเป็นอาชีพ แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้สนใจในการเขียนหนังสือและยึดเป็นงานอดิเรกก็คือความเงียบสงบที่อยู่ในวิถีชีวิตชนบท เพราะมีสภาพแวดล้อมที่ไม่มีเครื่องบำรุงความสุขไม่มีแหล่งบันเทิงเริงรมย์มากมายอย่างในเมืองหลวง การเขียนหนังสือจึงเป็นสิ่งช่วยให้เวลาที่ดูจะนานแสนนานสั้นลงและมีความหมาย เนื่องจากนิมิตร  ภูมิถาวร เติบโตมาในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ เมื่อเรียนจบก็กลับไปประกอบอาชีพที่บ้านเกิดอีก อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตทั้งชีวิตของเขาอยู่กับสภาพของชนบทอย่างแท้จริง ฉะนั้นจึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่างานเขียนของเขาจะสะท้อนชีวิตคนในท้องถิ่นที่เขาอยู่อย่างชัดเจนราวกับได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย   ภาพชีวิตที่เขาเขียนได้เด่นที่สุดคือ ภาพของครูกับนักเรียน นิมิตร ภูมิถาวร จึงเป็นตัวแทนของครูในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่นำภาพและปัญหาของครูออกมาเผยแพร่ให้ผู้อยู่ร่วมในสังคมได้รับรู้ เขามีทัศนคติในการเขียนว่า " ต้องเขียนเพื่อสร้างสรรค์ ถ้าเขียนแล้วไม่มีสาระอะไรเลย สู้ไม่เขียนเสียดีกว่า"

      ผลงาน

          ผลงานเขียนเรื่องแรกคือ เรื่องสั้นลงพิมพ์ในนิตยสารไทยโทรทัศน์ เมื่อ พ.ศ. 2510 ใช้ชื่อจริงเป็น นามปากกา หลังจากนั้นก็เขียนหนังสือเรื่อยมา มีผลงานเรื่องสั้นกว่า 60 เรื่อง นวนิยาย เรื่องยาว ประมาณ 10 เรื่อง (จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2523) งานที่ได้รับการจัดพิมพ์เป็นเล่มได้แก่

1. กระดานดำกระดานรัก
2. กระทรวงคลังกลางนา
3. กระสุนอัปยศ
4. กัดฟันสู้
5. คนนอกเครื่องแบบ
6. แด่คุณครูด้วยคมแฝก (สร้างเป็นภาพยนตร์ พ.ศ.2518)
7. ช่องเขาขาด เล่ม 1-2
8. ท้องนาสะเทือน (สร้างเป็นภาพยนตร์ พ.ศ.2518)
9. แด่เรือจ้างด้วยแจวหัก
10. ตีนที่เปื้อนโคลน (รวมเรื่องสั้น)
11. นรกในโรงเรียน
12. นักเลงบ้านไร่
13. ปืนดับในดงดิบ
14. ปล้นครูสาว
15. พ่อพวงมาลัย
16. มือที่เปื้อนชอล์ค
17. แม่หม้ายกรุงเทพฯ
18. แม่หม้ายท้องนา
19. ไม้เรียวอันสุดท้าย
20. เรื่องสั้นชนบท
21. โรงเรียนนักเลง
22. ลูกสาวนักเลง
23. โลกที่ห้า
24. สร้อยทอง
25. สาวชาวไร่
26. หนุ่มชาวนา
27. หอมกลิ่นดอกอ้อ
28. ยิ้มหวาน (เขียนร่วมกับนักเขียนอื่น)
29. คนเผาถ่าน
          ฯลฯ

      ผลงานที่ได้รับรางวัล

          1. เรื่องสั้นเรื่อง "เด็กที่ครูไม่ต้องการ" รางวัลประกวดเรื่องสั้น พ.ศ.2512 และเป็นเรื่องสั้น 1 ใน 20 เรื่องที่กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ คัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านภาษาไทยนอกเวลาสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

          2. เรื่องสั้นเรื่อง "มรดก" ได้รับรางวัลการประกวดเรื่องสั้น พ.ศ. 2512

          3. นวนิยายเรื่อง "แด่คุณครูด้วยคมแฝก" ได้รับรางวัลนวนิยายยอดเยี่ยมประจำปี 2517 ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

          4. นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง "สร้อยทอง" ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี พ.ศ.2518 ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

          5. นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง "คนเผาถ่าน" ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี พ.ศ. 2522 ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

          ผลงานที่เด่นและเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักอ่าน คือนวนิยายเรื่อง แด่คุณครูด้วยคมแฝก ซึ่งนับได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เนื้อเรื่องสะท้อนให้เห็นปัญหาต่างๆ ของการศึกษาในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ ตั้งแต่หลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับสภาพชีวิตความเป็นจริง อุปสรรคของการสอนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทั้งของครูและนักเรียน ปัญหาเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความล้มเหลวทางการศึกษาทั้งสิ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสะท้อนภาพมาสู่ผู้อ่านคือ ภาพวิถีชีวิตของผู้คนในชนบท เช่น การประกอบอาชีพที่ตั้งความหวังอยู่กับธรรมชาติ ถ้าปีใดฝนแล้งชาวนาก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมายังชีพ หลายคนค่อยๆ สูญเสียที่ดินทำกินกลับกลายไปเป็นผู้เช่าที่ดินที่เคยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนในอดีต 

          นอกจากนี้ชาวชนบทยังอยู่ในสภาพที่ไร้สวัสดิภาพกฎหมายดูจะไม่มีความหมายเลย เพราะทุกคนอยู่กันด้วยกฎของป่า ผู้ที่แข็งแรงกว่าจะมีอิทธิพลและรังแกผู้ด้อยกำลัง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งๆที่มีความยากจนข้นแค้น ไร้สวัสดิภาพในการดำรงชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่มีในชนบท คือ น้ำใจ เพราะดูเหมือนว่าผู้ที่มีความลำบากเหมือนๆ กัน ก็ยิ่งมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันมากขึ้นเท่านั้น และสิ่งเหล่านี้เองเป็นสิ่งที่ท้าทายให้บุคคลที่มีอุดมการณ์ในชีวิต ไม่กลัวความยากลำบากอยากจะเข้าไปช่วยเหลือ แก้ไข แม้จะเป็นการเข้าไปโดยใช้ชีวิตเป็นเดิมพันก็ตาม จุดเด่นของเรื่องก็คือ ความคิดที่เรียกร้องให้คนเสียสละ หันมาแก้ไขความแตกต่างระหว่างชนบทกับเมือง เพราะเราต่างอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินเดียวกัน

          นิมิตร ภูมิถาวร ลาออกจากอาชีพข้าราชการครูที่จังหวัดสุโขทัย อพยพครอบครัวไปอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยไปช่วยงานกับครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่นิตยสาร ฟ้าเมืองไทย และเป็นนักเขียนอาชีพ จนประสบอุบัติเหตุจากการขับรถยนต์บนถนนวิภาวดีรังสิต และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2524 ขณะกำลังเตรียมตัวเดินทางไปหาวัตถุดิบ ในการเขียนหนังสือที่ยุโรปเดือนกรกฎาคม นวนิยายเรื่องสุดท้ายที่ยังเขียนไม่จบคือ "แผ่นดินชายดง"