ประวัติ
     
นิคม รายยวา เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2487 
       ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 
        เดิมชื่อนิคม ประกอบวงศ์ ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "รายยวา" 
        ปัจจุบันสมรสกับนางกันยารัตน์ (คีรี) รายยวา 
        มีบุตรชายและบุตรหญิงรวม 2 คน ชื่อ รวี รายยวาและรูป รายยวา

 

 

      การศึกษาและอาชีพ

          นิคม รายยวา เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมืองเชลียง จังหวัดสุโขทัย เขาสนใจในการเขียนหนังสือมาตั้งแต่เยาว์วัย จนเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ได้พบปะกับเพื่อนพ้องกลุ่ม "พระจันทร์เสี้ยว" ความคิดและความตั้งใจที่จะเขียนหนังสือแสดงทรรศนะต่อชีวิตสังคมรอบข้างก็แตกแขนงออกไป เริ่มเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ผลงานเรื่องยาวเรื่องแรกชื่อเรื่อง "คนบนต้นไม้" ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรวมข้อเขียนของชาวมหาวิทยาลัยชื่อ "ตะวัน" 

          หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2509 เขาเข้าทำงานกับบริษัทน้ำมันในกรุงเทพฯ ประมาณ 10 ปี แล้วย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบ้าง และเกษตรกรรมบ้าง ต้องเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้เสมอ ทำให้ได้พบเห็นชีวิตในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นข้อมูลในการนำมาเขียนหนังสือ สิบกว่าปีที่ผ่านมา นิคม รายยวา มีผลงานออกมาสู่ผู้อ่านเพียงไม่กี่เล่ม เช่น รวมเรื่องสั้น "คนบนต้นไม้" (2527), เรื่องยาว "ตะกวดกับคบผุ" สำหรับเรื่อง "ตะกวดกับคบผุ" นั้น ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายประจำปี 2526 จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือ นิคม รายยวา กล่าวถึงความรู้สึกที่เริ่มเขียนหนังสือเรื่องสั้นครั้งแรกว่า 

          "เหมือนกับความรู้สึกตอนที่เขียนกลอน เขียนกาพย์ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างหนักที่ต้องศึกษา ระยะแรกเป็นช่วงของการพยายาม เมื่อออกมาเป็นงานเขียนจริงๆ แล้ว ก็จะเป็นอีกอย่าง เวลาจะเขียนอะไรก็ต้องมีเรื่องที่จะบอก ถ้าไม่มีอะไรจะบอกหรือไม่เคยพบอะไรที่เป็นปรัชญาจริงๆ เข้าใจสังคมหรือเข้าใจมนุษย์ไม่รอบด้าน ไม่รู้ที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิด ซึ่งก็จะเอาอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาร่วมด้วยแม้ว่าจะไม่ถูกนัก สำหรับแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือนั้นก็คงจะมาจากการสะสมทีละนิดทีละหน่อยโดยที่ตนเองไม่รู้สึกตัว ตั้งแต่เยาว์วัยเมื่ออ่านหนังสือแล้วก็รู้สึกว่ามีอะไรน่าสนใจ การเขียนเรื่องสั้นหรือเรื่องยาวนั้นแตกต่างกันเพียงวิธีการแสดงออก เมื่อมีหัวข้อที่จะแสดงออกก็ทำออกมาให้ถึงผู้รับได้เพื่อให้ผู้อ่านได้คิด และรู้สึกเหมือนกับที่เราคิด เรารู้สึกหลังจากนั้นก็เป็นวิธีการ ทีนี้เรื่องที่จะแสดงนั้นก็เป็นหัวข้อใหญ่หรือเล็ก กว้างหรือแคบและต้องการรายละเอียดมากหรือน้อย ถ้ามากก็ยาวหน่อย ถ้าน้อยก็สั้นหน่อย แล้วในทางมาก ทางน้อย ยาว สั้น ก็ให้มีองค์ประกอบของศิลปะที่จะออกมาพอดี กลมกลืนและมีเอกภาพ…" 

      ผลงานเกียรติยศ 

          คือ นวนิยายเรื่อง ตลิ่งสูง ซุงหนัก ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในปีพ.ศ.2527 และได้รับรางวัลซีไรต์หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี 2531 ภายหลังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ High Banks, Heavy Log โดย Richard C. Lair สำหรับข้อมูลในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ นิคม รายยวากล่าวว่า 

          " เรื่องนี้อยู่ในใจผมตั้งแต่อายุสิบหก…เมื่อตอนเป็นเด็ก บ้านผมอยู่ริมแม่น้ำยม เวลามองออกไปทางฝั่งโน้นก็จะเห็นตลิ่งสูง แล้วข้างบนก็มีซุงอยู่มากเลย มีช้างลากซุงทำงานกันอยู่แทบทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งผมได้ยินเสียงช้างร้อง มันพยายามจะลากซุง ควาญช้างก็สับตะขอลงไป แล้วยังไงก็ไม่ทราบ ตลิ่งพัง ภาพนี้ประทับใจและมีอะไรบางอย่างที่น่าจะเอามาใช้ได้ ก็เลยลองเขียน เขียนไปเขียนมาเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะบอกอะไร เราก็เก็บเอาไว้ เขียนใส่สมุดสองสามบรรทัดว่า ช้างตกตลิ่ง เก็บไว้จนกระดาษขาด ผ่านมาหลายปี จนกระทั่งเรียนหนังสือออกมาทำงานทำการ ไปเห็นช้างไม้ตัวใหญ่ใหญ่ เจ้าของบอกว่าใช้เวลาแกะสลักหลายปี แล้วแพงกว่าช้างจริงๆ เสียอีก ก็ได้แต่สะท้อนใจ แล้วได้ไปเห็นเขาสตั๊ฟฟ์สัตว์อีก เราเลยคิดว่าเรามีอะไรบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ มาเห็นโน้ตเก่าๆ บนกระดาษขาดๆ ก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน…"

          ตลิ่งสูง ซุงหนัก เป็นเรื่องของช้างกับคนซึ่งรักผูกพันกันมาก คำงายรักพลายสุดซึ่งเป็นช้างที่พ่อมีความจำเป็นต้องขายไปเพื่อเอาเงินมารักษาตัว เพราะเขาไม่มีทางเลือก ถึงแม้จะเสียดายและเฝ้าคิดถึง ต่อมาคำงายบุตรชายซึ่งรักพลายสุดมากได้แกะสลักช้างไม้ที่สง่างามเหมือนพลายสุด เขาอุทิศทั้งกายและใจทั้งหมดในการแกะช้างไม้นั้น และในขณะเดียวกันเขาก็คิดว่าเป็นวิธีเดียวที่เขาจะได้ใกล้ชิดช้างที่เขารัก เขาจึงได้สมัครเป็นควาญช้างรับจ้างพ่อเลี้ยงโดยรับเป็นควาญของพลายสุดรับจ้างลากซุง เขาเกิดความคิดว่า มิใช่พลายสุดเท่านั้นที่ลากซุง เขาเองและทุกชีวิตต่างก็กำลังลากซุงด้วยกันทั้งนั้นเพราะความอดอยาก หิวโหย เขาพยายามทำงานอย่างขยันขันแข็งต่อไปและหวังว่าวันหนึ่งจะได้พลายสุดกลับคืนมา โดยแลกกับช้างไม้ที่เขาพยายามแกะสลัก แต่ในที่สุดได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ร่างคำงายได้ถูกซุงบดทับทำให้สิ่งที่เขาคิดไว้กลายเป็นความฝัน

          ผลงานเรื่อง "ตลิ่งสูง ซุงหนัก" ของ นิคม รายยวา ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการตัดสินว่า "เป็นเรื่องของคนผู้แสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิต และพบว่า ทุกคนมีการเกิดและความตายอย่างละหนึ่งหนเท่ากัน แต่สิ่งที่อยู่ระหว่างกลางนั้นเป็นชีวิต เราต้องหากันเอาเอง…" ในขบวนการแสวงหานี้ตัวละครเอก คือ คำงาย ก็ได้ตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต โดยเห็นว่า "คนเรานั้นมัวแต่รักษาซากที่ไม่มีชีวิต ไม่เคยรักษาชีวิตที่อยู่ในซากเลย " คำงายจึงเลือกรักษาชีวิตโดย "เลี้ยงมัน รักมัน ถนอมมัน" และเห็นความสัมพันธ์โยงใยระหว่างชีวิตทั้งหลาย