การเลี้ยงช้าง

             จังหวัดสุโขทัยมีการเลี้ยงช้างกันมากที่ตำบลบ้านตึก การเลี้ยงช้างเป็นวิถีชีวิตที่ผูกพันระหว่างคนกับช้างและต้องใช้ศาสตร์เฉพาะ ช้างเป็นสัตว์บกที่มีลำตัวขนาดใหญ่และสามารถฟังภาษามนุษย์และปฏิบัติตามได้เป็นอย่างดีถ้าได้รับการฝึก เวลาที่อยู่ในป่าจะอยู่รวมกันเป็นโขลง มีหัวหน้าโขลงควบคุม ช้างเพศผู้เรียกว่าช้างพลาย ช้างเพศเมียเรียกว่าช้างพัง การจับช้างป่ามาฝึกเพื่อใช้งานเรียกว่า การคล้องช้าง เมื่อจับช้างได้แล้วหมอช้างจะทำพิธีไล่ผีป่าออกจากช้างและเมื่อนำช้างมาถึงบ้านก็จะทำพิธีสู่ขวัญช้างเพื่อความเป็นศิริมลคลแก่ช้างและเจ้าของ ก่อนที่จะนำช้างไปใช้งาน ต้องทำการฝึกให้เชื่องเสียก่อน สามารถฟังคำสั่งและปฏิบัติตามคำสั่งที่ควาญช้างสั่งได้ การฝึกช้างนี้ชาวบ้านเรียกว่า เอาช้างเข้าซอง ลูกช้างจึงเหมาะที่จะได้รับการฝึก เพราะฝึกง่าย เชื่อฟังคำสั่ง การสร้างซองเพื่อฝึกช้างต้องนำต้นไม้ขนาดใหญ่พอสมควรมาฝังดินคู่กันในแนวตั้ง สูงกว่าความสูงของช้างและห่างกันพอที่จะหนีบคอช้างไม่ให้หลุดเวลาที่ช้างดิ้นรนขณะฝึกด้านบนสุดของซองใช้โซ่ขันชะเนาะแน่นหนา จากนั้นควาญช้างหรือผู้ชำนาญในการฝึกช้างก็จะขึ้นขี่บนคอช้าง ใช้ตะขอหรือขอบังคับช้าง ตลอดจนใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกันระหว่างคนกับช้างโดยจะฝึกกันทุกวันจนกว่าช้างจะจำและปฏิบัติตามคำสั่งที่ควาญต้องการ ภาษาช้างหรือภาษาที่คนพูดกับช้างจะเป็นคำสั้นๆ เพื่อให้ช้างจำได้ง่าย สำหรับภาษาช้างที่ใช้กันอยู่ในแถบพื้นที่ของตำบลบ้านตึก ดินแดนเมืองด้งในอดีต มีดังนี้

คำสั่งของควาญช้าง ความหมายในทางปฏิบัต
 
ฮาว ให้หยุด
ไป ให้เดินต่อไป
ชิด ให้เข้าไปใกล้ ชิด ติด 
ดุน เดินถอยหลัง
ทาว การคู้เข่าหลังทั้งสองข้าง
ต่ำ การคู้เข่าหน้าทั้งสองข้างและก้มหัวลง
ทาวต่ำลง การคู้เข่าลงทั้งหมดทั้งสี่เท้าให้ติดดิน
ส่ง ยกขาหน้า
สูง  ยกขาหน้าข้างเดียวเพื่อให้คนเหยียบขึ้นขี่บนคอ
จับมาๆ สั่งให้จับสิ่งของที่ตกหล่นส่งให้กับคนที่ขี่บนคอ
บน ๆ ให้ใช้งวงฟาดหรือกดสิ่งกีดขวางที่อยู่ข้างหน้าในระยะสูง
สาวมา ใช้งวงดึงโซ่ที่ผูกขามากองรวมกัน
อย่า เป็นการสั่งห้ามไม่ให้ดื้อรั้นหรือทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ
มานี่ ให้เดินเข้าใกล้ผู้สั่งหรือเดินตาม
งัด ใช้งวงหรืองางัดท่อนไม้ให้กลิ้ง
โสก  ใช้ขาดันให้ท่อนไม้เคลื่อนที่ออกไปด้านหลังในแนวตรง
ยก ใช้งาสอดท่อนไม้ตามขวาง ใช้งวงรัดและยกขึ้น
รับ  ยกขาหน้าสูงขึ้นเพื่อให้คนที่ขี่บนคอเหยียบลง
ทาวแม้บ ขณะอาบน้ำในคลอง ควาญช้างใช้มือตบที่หัวช้างแล้วสั่งเพื่อต้องการให้นอนและหัวช้างดำลงมิอผิวน้ำ
จก  ใช้งวงดูดน้ำแล้วพ่นเข้าปาก
กด ใช้งวงดูดน้ำแล้วพ่นเข้าปาก

 

อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้กับช้างใช้งาน
 
โซ่
 
ขนาด 3-4 หุน ผูกขาช้างล่ามโซ่ติดกับต้นไม้ใหญ่
 
ลำยง (ลำโยง)
 
ขนาด 4-5 หุน เป็นโซ่ชักลากซุง
 
พานหน้ารองบ่า
 
ถักทอด้วยเชือกเป็นผืนยาว 1.5 เมตร ปลายสองข้างมีรูสำหรับสอดโซ่ลำยง
 
หนังรองหลัง
 
ทำจากเปลือกไม้ ใช้เชือกถักทอเป็นสี่เหลี่ยมด้านเท่า ยาว 1.5 เมตร ใช้สำหรับรองบนหลัง
 
ตะขุบ (ไม้ก๊อบ)
 
มี 2 อัน เป็นไม้หน้าตัดสี่เหลี่ยม ยาว 50 เซนติเมตรขนาดเท่าต้นกล้วยใหญ่ ใช้วางทับไม่ให้หนังหล่นหรือหลุด
 
สายรัดตะโคน
 
 
ทำด้วยหวาย ยาวเข้าคู่กัน 2 เส้น ปลายสอดข้างขมวดเป็นวงกลม ผูกรัดตัวช้างโดยกดทับอยู่บนตะขุบ ให้ยึดแน่นกับแผ่นรองหลัง
 
แหย่ง
 
สร้างด้วยโครงไม้รูปสี่เหลี่ยม ด้านล่างโค้งเพื่อให้วางเข้ารูปกับหลังช้าง เพื่อบรรทุกสิ่งของ หรือให้คนนั่ง
 
บ่วงคล้องช้าง
 
ใช้เชือกผูกยึดระหว่างโคนหางกับแหย่ง ไม่ให้ลื่นไหลไปด้านหน้า
 
ไม้ค้ำโซ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดเท่าแขน ค้ำโซ่ลำยงให้ห่างจากตัวช้างเพื่อป้องกันการเสียดสี

 

เครื่องมือบังคับช้าง
 
ตะขอ


 
มีรูปร่างยาวประมาณ 1 คืบ ทำด้วยเหล็กขนาดเท่าหัวแม่มือปลายแหลมเป็นรูปโค้ง ด้ามทำด้วยไม้ยาวประมาณ 1 ศอกถ้าจะให้ช้างหันมาทางขวา จะใช้ตะขอเกี่ยวกกหูด้านซ้ายแล้วดึงมาทางขวา ถ้าจะให้หันทางซ้ายก็จะใช้ตะขอเกี่ยวทางด้านขวาแล้วดึงมาทางซ้าย ถ้าจะให้ช้างหยุดก็ใช้ตะขอเกี่ยวที่กลางหัวบริเวณโหนกแล้วดึง พร้อมกับพูดว่า "ฮาว"
 
หอก

 
ทำด้วยเหล็ก มีรูปร่างคล้ายมีดปลายแหลมยาว 1 คืบ ด้านตรงข้ามกับปลายแหลม มีรูทรงกระบอก สำหรับใส่ด้าม ยาว 2 วาใช้กับช้างพยศ ดื้อรั้น อาละวาดไม่เชื่อฟัง
 
กะแจะ

 
ทำด้วยเหล็กวงกลมร้อยต่อกันหลายวง คล้ายโซ่ มีไว้สวมข้อเท้า หน้าทั้ง 2 ข้าง เหมือนกุญแจมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใส่เพื่อไม่ให้ช้างวิ่ง หรือยกขาทำอันตรายผู้คน
 
มีดปลายแหลม ใช้สำหรับทิ่มที่หัว หากช้างพยศไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง 

 

ตำรายาสำหรับช้าง

ยาสำหรับช้างนี้เป็นวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้างซึ่งจะช่วยดูแลรักษาโรคให้กับช้างโดยใช้ส่วนผสมคือ
 
1. น้ำอ้อย 2. มะขาม 3. เหง้าสับปะรด
4. หัวผักหนาม 5. เกลือ 6. บอระเพ็ด หรือ เครือเขาหมาบ้า
7. กะทือ 8. ปะเลย (ไพล) 9. มะพร้าวขูด

           ในส่วนของวิธีการทำนั้น จะนำส่วนผสมทั้งหมดมาตำรวมกันให้ละเอียด แล้วปั้นเป็นก้อนนำไปตากแดด 2-3 วัน ให้แห้ง แล้วให้ช้างกิน จะช่วยบำรุงกำลังช้างให้มีกำลังมากๆ และรักษาโรคต่างๆ ให้กับช้าง