ชาติไทยมีประเพณีอันดีงามตกทอดสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณกาล ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ระบุว่า ในสมัยสุโขทัยมีประเพณีที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิ ประเพณีทางด้านศาสนา ชาวสุโขทัยเป็นพุทธมามกะที่มีศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ชาวสุโขทัย นับแต่พระมหากษัตริย์จนถึงชาวบ้านทั่วไปจะไปวัดทำบุญทำทานรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ไปฟังพระธรรมเทศนาที่กลางดงตาลในเมืองสุโขทัย เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาในเดือน 8 ชาวสุโขทัยมีการถือศีล ทำบุญ ทำทาน กุลบุตรที่มีอายุพอสมควรก็ออกบวชเป็นภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาชั่วระยะเวลาเข้าพรรษาตามประเพณีนิยม และเมื่อถึงเทศกาลออกพรรษาในเดือน 11 ก็มีการ ทอดกฐินถวายปัจจัย เช่น ถวายพนมเบี้ย พนมหมาก พนมดอกไม้ ถวายหมอนนั่ง หมอนนอน เป็นต้น การทอดกฐินนี้กว่าจะเสร็จก็ใช้เวลาเดือนหนึ่ง ในเทศกาลออกพรรษาก็มีการละเล่นต่างๆ เช่น เล่นดอกไม้ไฟ หกคะเมน ไต่ลอดบ่วง รำแพน เล่นดนตรี ขับร้อง เต้นระบำรำฟ้อน เครื่องดนตรีในสมัยนั้นมี ฆ้องวง กลองประเภทต่างๆ อาทิ กลองมโหระทึก แตร สังข์ ระฆัง กังสดาล ฉิ่งฉาบ บัณเฑาะว์ พิณ และซอ เป็นต้น

          ชาวสุโขทัยนั้น นอกจากนับถือศาสนาพุทธแล้ว ยังนับถือศาสนาพราหมณ์ด้วย เพราะในสมัยนั้นมีทั้งวัดวาอาราม โบสถ์วิหาร และเทวสถานอยู่ทั้งในเมืองและนอกเมือง เมื่อผู้ใดต้องการประกอบพิธีมงคลพิธีใดพิธีหนึ่ง มักประกอบพิธีทั้งทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ คือมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระปริตร และเชิญพราหมณ์มาอ่านพระเวท
          งานประเพณีลอยกระทงของไทยนั้น มีมาแต่โบราณโดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการบูชา และขอขมาพระแม่คงคาเป็นการสะเดาะเคราะห์ และบูชาพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระบาทเป็นต้น นิยมทำกันในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกๆ ปี ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำตามแม่น้ำ ลำคลองขึ้นสูง และอากาศเริ่มเย็น


 

     บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน กล่าวไว้ว่า การลอยพระประทีป ลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวง ทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่า ตรงกับคำที่ว่า ลอยโคมลงแช่น้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับถือว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมนเฑียรบาลซึ่งได้ยกมาอ้างในเบื้องต้น ต่อความที่ว่าพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำไป มีข้อความต่อไปว่า "ตั้งระทาดอกไม้ในพระเมรุ 4 ระทา หนัง 2 โรง" การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและที่ชลาทรงบาตร

 บูชาหอพระในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยการลอยพระประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่าในเวลาฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาเสด็จลงประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามารับราชการ จึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล และคิดคำขับร้องถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระดำริจัดเรือพระที่นั่งเทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง
     หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์บรรยายถึงลักษณะของกระทงที่นางนพมาศประดิษฐ์ถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า ดังนี้
     "… การพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นวันนักขัตฤกษ์ชักโคม ลอยโคม นางนพมาศ ได้ประดิษฐ์โคมลอย ตกแต่งเป็นรูปดอกกระมุทมาน กลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากระทงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษา ลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุระคณาวิหคหงส์ ให้จับจิกเกสรบุปผชาติอยู่ตามดอกกระมุท เป็นระเบียบเรียบร้อยวิจิตรไปด้วยสีย้อมสดสว่างควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซม เทียน ธูป และประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค…"
      ดอกกระมุท หรือ โกมุท เป็นดอกบัวประเภทบัวเผื่อน บัวผัน ที่ขยายกลีบบานในเวลากลางคืน กลางวันหุบ ระแทะ คือ ล้อเกวียน
      นอกจากการลอยกระทงแล้ว ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บรรทัดที่ 14 ยังได้กล่าวถึงการเผาเทียนเล่นไฟว่า
     "…เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟเมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก…"
     ท่านผู้รู้หลายท่านสันนิษฐานว่างานดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นการเผาเทียน เล่นไฟ ในงานเทศกาลลอยกระทงนั่นเอง เพราะมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก จากข้อความในศิลาจารึกตอนนี้นายนิคม มุสิกคามะ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเมื่อปี พ.ศ.2520 ได้เสนอให้จังหวัดสุโขทัยจัดงานพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ประเพณีลอยกระทงขึ้นให้เป็นงานระดับชาติ เพื่อแนะนำจังหวัดสุโขทัย ให้ชื่องานตามคำในศิลาจารึกว่า "งานเผาเทียน เล่นไฟ" จุดเน้นที่เป็นหัวใจของงานนี้ คือ การฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟชนิดต่าง ๆ จังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกันจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
      พิธีและกิจกรรมในภาคกลางวันจะมีขบวนแห่นางนพมาศ และการออกร้าน จัดนิทรรศการ ส่วนในเวลากลางคืนจะมีการจุดประทีปโคมไฟตามโบราณสถาน 3 วัน 3 คืน มีการลอยกระทง และจุดดอกไม้ไฟอย่างสวยงามทั่วท้องน้ำและตระพังต่าง ๆ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการจัดประกวดกระทง การแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย ณ บริเวณวัดมหาธาตุ ตลอดจนการแสดงนาฏศิลป์ และมหรสพต่าง ๆ
      ในงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัยได้จัดให้มีพิธีเผาเทียนแบบโบราณ โดยเชิญชวนให้ประชาชนทั้งหลายร่วมพิธีซื้อตะคัน เผาเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดแล้วนำไปวางบนฐานหรือระเบียงโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทำให้เกิดแสงสว่างระยิบระยับนับร้อยนับพันดวง เป็นบุญกุศลที่ได้ร่วมแรงศรัทธาพร้อมกัน หากใครจะนำตะคันกลับบ้านเพื่อเป็นที่ระลึกนึกถึงงานเผาเทียนเล่นไฟที่สุโขทัยก็ได้