ประวัติ

          จังหวัดสุโขทัย เป็นที่ตั้งอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อกว่า 700 ปีที่ผ่านมา คำว่า "สุโขทัย" มาจากคำสองคำคือ "สุข+อุทัย" มีความหมายว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข " ประวัติของสุโขทัยเริ่มประมาณ  พ.ศ. 1800 เมื่อพระยาศรีนาวนำถม พระบิดาแห่งพ่อขุนผาเมืองได้ปกครองสุโขทัยซึ่งยังเป็นประเทศราชของขอมอยู่ขึ้นต่อขอมสมาดโขลญลำพงข้าหลวงจากอาณาจักรขอม เมื่อพระยาศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดได้ยึดเมืองคืนและสร้างเมืองสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี ต่อมาพ่อขุนบางกลางหาวได้เสด็จขึ้นครองราชย์และทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ 

          ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระโอรสองค์ที่สามของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อาณาจักรสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างขวางครอบคลุมประเทศไทยในปัจจุบันเกือบหมด บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทุกด้านทั้งด้านการปกครอง การพาณิชย์ กฎหมาย ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมประเพณี หลักฐานสำคัญที่ทำให้ทราบเรื่องเมืองสุโขทัยมากขึ้น คือ ศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดเกล้าให้จารึกอักษรไทยไว้เมื่อ พ.ศ. 1826 

          ในศิลาจารึกกล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่ามีอาณาเขตกว้างขวาง ทิศเหนือจรดเมืองแพร่ น่าน และหลวงพระบาง ทิศใต้จรดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจรดเมืองเวียงจันทน์ และทิศตะวันตกจรดเมืองหงสาวดี การปกครองบ้านเมืองเป็นระบบพ่อปกครองลูก ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี มีสิทธิเสรีภาพดังคำจารึกที่ว่า "..เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส…

          ในสมัยนั้นชาวสุโขทัยประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม โดยมีการสร้างเขื่อนสำหรับกักน้ำไว้ใช้เมื่อหน้าแล้ง เรียกว่า "ทำนบพระร่วง" สุโขทัยเป็นเมืองศูนย์การค้าและการผลิตเครื่องถ้วยชามที่เรียกว่า "เครื่องสังคโลก" ส่งขายยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบอร์เนียว นอกจากนั้นยังเป็นการค้าสินค้าจากประเทศจีน เช่น ถ้วยชามและผ้าไหม เพื่อขายในประเทศและส่งไปค้าขายแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศด้วย
         หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมของสุโขทัย ได้แก่สมบัติทางสถาปัตยกรรม ที่ได้รับการบูรณะขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์
ศรีสัชนาลัย และได้รับการคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติให้เป็นมรดกโลกในปีพุทธศักราช 2534

          ประมาณ พ.ศ. 1890 กรุงศรีอยุธยามีอำนาจมากขึ้นและกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการปกครองแทนสุโขทัย แต่สุโขทัยก็ยังมีพระมหากษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาอีก 2 พระองค์จึงสิ้นราชวงศ์สุโขทัยและรวมเข้ากับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้ตั้งเมืองสุโขทัยที่บ้านธานี (บ้านท่าหนี) ริมแม่น้ำยม ซึ่งก็คือ จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน ทรงย้ายผู้คนจากสุโขทัย ตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยมเมื่อพ.ศ. 2336 โดยห่างจากเมืองสุโขทัยที่เป็นราชธานี 12 กิโลเมตร พระราชดำริในครั้งนั้นมีอยู่ว่า เมืองสุโขทัยเป็นเมืองใหม่ ไม่มีผู้คนพอจะต่อสู้รักษาให้พ้นจากการรุกรานของพม่าและข้าศึกอื่น ๆได้ 

          เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอธานีเป็น อำเภอสุโขทัยธานี ขึ้นกับจังหวัดสวรรคโลก จนถึงพ.ศ. 2482 ได้ยกอำเภอสุโขทัยธานี ขึ้นเป็น จังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่นั้นมา

         สุโขทัย เป็นดินแดนแห่งความทรงจำถึงอดีตกาลแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ สิ่งสำคัญที่จะต้องระลึกถึงก็คือ 

          -   เป็นราชธานีแห่งแรกของไทยและมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด

          -  เป็นดินแดนของพระมหากษัตริย์มหาราชพระองค์แรกของชาวไทย คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 

          -  เป็นแหล่งกำเนิดลายสือไทย และวรรณคดีเล่มแรกของไทยคือ "ไตรภูมิพระร่วง"

         -  เป็นยุคแรกที่ไทยมีความสัมพันธ์ทางราชไมตรีกับต่างประเทศ

         -  เป็นแหล่งกำเนิดศิลปวัฒนธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของศิลปะไทย

         -  เป็นแหล่งกำเนิดงานอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียง คือ "เครื่องถ้วยสังคโลก"