ประเพณีบวชช้างหรือที่เรียกว่า แห่ช้างอยู่เคียงคู่ผู้คนทีมีสายเลือดไทยพวนมานานแล้ว คือ การนำช้างมาร่วมในพิธีบรรพชาอุปสมบทมาจากคติความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า พระ เวสสันดรให้ช้างปัจจัยนาเคนทร์อันเป็นช้างเผือกคู่บารมีที่ชาวเมืองเชตุดรถือว่าเป็นมงคลหัตถีแก่พราหมณ์ทั้ง 8 จากแคว้นกลิงคราษฎร์ที่มาทูลขอเพื่อเป็นมงคลแก่บ้านเมืองที่ประสบทุพภิกขภัย
       ความเชื่อนี้เกี่ยวข้องกับอีกตำนานหนึ่ง คือ ตอนที่พระเจ้ากรุงสัญชัย พระราชบิดาของพระเวสสันดรขอให้พระเวสสันดรกลับมาเป็นกษัตริย์ตามเดิมนั้น พระองค์ได้จัดขบวนช้างม้าและรถประดับประดาเหมือนออกศึกสงครามให้สมเกียรติเพื่อไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีขบวนแห่ขับด้วยมโหรีและการละเล่นต่าง ๆ เป็นการเฉลิมฉลอง 
        ความเชื่ออีกประการหนึ่ง คือ คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่มุ่งให้ผู้บวชถือปฏิบัติตนเพื่อไปสู่โลกอุดร หรือโลกุตรธรรม คือ ธรรมอันพ้นจากวิสัยของโลก ได้แก่ พระนิพพาน แต่คนทั่วไปเข้าใจว่า อุดร หมายถึงทิศเหนือ ซึ่งมีสัญลักษณ์ คือ ช้าง ชาวไทยพวนเรียกสัญลักษณ์ประจำทิศเหนือว่า "โงนงก" คือ ช้างและนำมาเป็นส่วนร่วมในขบวนแห่มาจนทุกวันนี้

       ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีการจัดงานบวชที่น่าสนใจมากโดยจัดพร้อมกันทั้งตำบล ก่อนบวชเจ้าภาพจะจัดให้นาคนั่งบนคอช้าง พร้อมด้วยญาติมิตรนำอัฐบริขาร    ขี่บนหลังช้างแห่เป็นริ้วขบวนยิ่งใหญ่รอบหมู่บ้าน งานบวชพระแห่นาคด้วยขบวนช้างมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า "งานบวชช้าง" แต่เดิมจัดวันแห่ในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 4 และบวชในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 4 ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ได้เปลี่ยนวันแห่เป็นวันที่ 7 เมษายนของทุกปี และวันบวชเป็นวันที่ 8 เมษายนของทุกปี
        ก่อนวันบวชหนึ่งวัน สตรีชาวไทยพวนจะชวนกันไปเที่ยวบ้าน คือ ไปบอกบุญหรือไหว้วานกันให้มาช่วยงานบวช

       วันที่สอง คือวันแห่นาค เจ้าภาพจะทำการ "แถ" หรือโกนผม โกนคิ้ว ผู้ที่จะบวชและตกแต่งตัวให้อย่างสวยงาม เครื่องแต่งกายของนาคประกอบด้วยผ้านุ่ง ผ้าม่วง ผ้าไหม สวมเสื้อกำมะหยี่หรือเครื่องนุ่งห่มที่แพรวพราว สวมเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น เข็มขัดนาก เพชร พลอย อันมีความหมายถึงความหลงใหลในความงามของทรัพย์ภายนอกและพร้อมที่จะไปแสวงหาทรัพย์ภายใน (อริยทรัพย์) และสวมแว่นดำ มีความหมายว่า ยังเป็นผู้มืด เพราะยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ศีรษะสวมเทริด หรือเรียกว่า กระโจม อันเป็นเครื่องทรงของพระอินทร์ และเป็นสัญลักษณ์หงอนนาค กระจกที่ติดสองข้างหูเพื่อไว้สำรวจตัวเอง ระลึกถึงความหลังพร้อมที่จะสละ ประนมมือด้วยแผ่นหรือแป้นวงกลมเรียกว่า "สักกัจจัง" แปลว่า เครื่องหมายแห่งความเคารพ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-8 นิ้ว ด้ามเป็นรูปพญานาค ถือเครื่องประดับและเครื่องบูชาต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียนเรียกว่า ขันธ์ 5 ร่มที่ใช้กางเป็นร่มใหญ่(สัปทน) มีหลายสี เรียกว่า "จ้อง" หรือ "คันญู"

        ควาญช้างและญาติตลอดจนเพื่อน ๆ ของนาคจะแต่งตัวให้ช้างเช่นกัน โดยนำช้างลงไปอาบน้ำในแม่น้ำยม จัดแต่งผ้าคลุมหัวช้างพร้อมผ้าปูลาดบนหลังช้าง นำโซ่กระดึงหรือกระดิ่งคล้องคอหรือหลังให้ดังกรุ๋งกริ๋งตลอดทางที่ช้างเดินในขบวนแห่ นำแพรพรรณที่สวยงาม หรือด้ายขวัญขาวแดงผูกแต่งที่งาช้าง ตามตัวใช้ชอล์กเขียนคำขวัญ คติ คำคม ต่าง ๆ ตลอดจนคำหยอกล้อนาค หรือเจ้าภาพ
       เมื่อแต่งตัวให้นาคและช้างเสร็จก็จัดริ้วขบวนให้นาคนั่งบนคอช้างประนมมือถือ
สักกัจจัง และขันธ์ 5 โดยมีคณะญาติและเพื่อน ๆ นั่งบนหลังช้าง และกางสัปทนให้นาค การจัดขบวนแห่นั้น เจ้าภาพจะนำหมวกสานหรืองอบพ่นสี เขียนชื่อนาค หรือคำหยอกล้อต่าง ๆ เป็นของชำร่วยให้แก่ผู้ที่ร่วมขบวนแห่เพื่อใช้กันแดด ตามด้วยขบวนแตรวง หรือกลองยาว ถือ เทียนเอก เทียนอนุศาสน์ กรวยอุปัชฌาย์ ผ้าไตร อัฐบริขาร และเครื่องไทยทาน เดินนำหน้าขบวนช้างจากบ้านงาน

ไปรวมกันที่วัดหาดเสี้ยวประมาณบ่ายโมง เมื่อไปถึงวัดแล้ว พ่อ แม่จะนำนาคลงจากหลังช้าง ถือขันธ์ 5 ไปสักการะเจ้าวัดที่ศาลพระภูมินาคจะถือแต่สักกัจจังนั่งบนคอช้างคอยคณะกรรมการจัดขบวนตามลำดับชื่อเจ้าภาพเมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะให้นาคมารับศีลจากพระภิกษุ ขบวนแห่นาคที่จัดอันดับไว้จะออกเดินทางจากวัดหาดเสี้ยวเป็นริ้วขบวนอันยาวเหยียด ผ่าน ตลาด หมู่บ้าน และออกไปวนรอบทุ่งนา รอบหมู่บ้านและแยกย้ายกันกลับบ้านเพื่อให้นาคและผู้ร่วมขบวนได้พักผ่อน เตรียมตัวเข้าพิธีทำขวัญนาคในตอนเย็นหรือตอนค่ำต่อไป
        ปัจจุบันการจัดงานบวชช้างหาดเสี้ยวจะทำขวัญนาคเป็นพิธีใหญ่รวมกันในตอนบ่ายหลังจากขบวนแห่นาคมาครบ วันรุ่งขึ้นเป็นพิธีบวช หลังจากจัดเลี้ยงอาหารเช้าก็จัดขบวนแห่จากบ้านเป็นขบวนเดินเท้ามาที่วัด นาคจะแต่งกายชุดขาวเดินประนมมือถือสักกัจจัง และขันธ์ 5 มีการโปรยข้าวสารใส่ศีรษะซึ่งกันและกันของผู้ที่อยู่ในขบวนแห่ ทำให้เกิดความสนุกสนาน

เมื่อมาถึงวัดหาดเสี้ยวแล้ว นาคจะนำขันธ์ 5 สักการะเจ้าวัดที่ศาลพระภูมิอีกครั้งหนึ่ง แล้วเดินทักษิณาวรรตรอบโบสถ์ 3 รอบ ล้างเท้าและมีคนให้นาคขี่หลังส่งขึ้นโบสถ์ วันทาเสมาโบสถ์ โปรยทาน เสร็จแล้วเข้าสู่พิธีบรรพชาบวชเป็นจั่วอ้าย หรือสามเณร และอุปสมบทเป็นเจ้าหัว หรือ พระภิกษุ เป็นอันเสร็จพิธี