ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด

            ในปีพ.ศ.2541 ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 32,942 บาทต่อปี เป็นอันดับที่ 51 ของประเทศ หรืออันดับที่ 10 ของภาคเหนือ โดยทั้งจังหวัดมีผลิตภัณฑ์มวลรวม 19,469,000 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากสาขาการเกษตรมากที่สุดคือร้อยละ 33.19 คิดเป็นมูลค่า 6,461,000 ล้านบาท รองลงมาได้แก่สาขาการค้าส่งและการค้าปลีกร้อยละ 17.97 คิดเป็นมูลค่า 3,498,000 ล้านบาทและสาขาการบริการ ร้อยละ 13.45 คิดเป็นมูลค่า 2,618,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.62 
ข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2543 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจังหวัดสุโขทัย มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 167,900 ครัวเรือน ส่วนค่าประมาณรายได้ประจำของครัวเรือนโดยเฉลี่ยต่อเดือนนั้นอยู่ที่ 7,121 บาท

           
การประกอบอาชีพ

            ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม รองลงมา คือ การพาณิชยกรรม และการบริการการท่องเที่ยว และการอุตสาหกรรม 
            การเกษตรกรรม จำแนกเป็นการกสิกรรม การปศุสัตว์ และการประมง
            การกสิกรรม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ อ้อย ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน ยาสูบ ฝ้าย งา และถั่วลิสง ส่วนสินค้าเกษตรที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า มะม่วง พุทรา ลางสาด ทุเรียน ละมุด มะปราง 
            การปศุสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยงโคเนื้อ โคนม ไก่ เป็ด สุกร กระบือ แพะ แกะ โดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมเป็นอาชีพที่เริ่มมีบทบาทและมีการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
            การประมง เป็นการประมงน้ำจืดตามแหล่งน้ำธรรมชาติ การเลี้ยงปลาในบ่อเริ่มมีมากขึ้น แต่ยังเป็นกิจการขนาดเล็ก 
            การพาณิชยกรรม การค้าส่งและค้าปลีก เป็นสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับสองของจังหวัดสุโขทัย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร การประกอบธุรกิจซื้อขายสินค้าเกษตรจึงมีพ่อค้าเข้ามาประกอบกิจการเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าในพื้นที่กระจายอยู่ในทุกอำเภอ โดยมีศูนย์กลางธุรกิจการค้าที่สำคัญ 2 แหล่ง คือ อำเภอเมืองสุโขทัย และอำเภอสวรรคโลก นอกจากนี้ยังมีแหล่งซื้อขายปศุสัตว์ที่เรียกว่า ตลาดนัดโคกระบือ กระจายตามท้องถิ่นต่างๆ ด้วย
            การบริการและการท่องเที่ยว จังหวัดสุโขทัยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ มากมาย ได้แก่แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ทำให้การบริการและการท่องเที่ยวเป็นสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอันดับสามของจังหวัดสุโขทัย
            การอุตสาหกรรม เป็นสาขาเศรษฐกิจสำคัญลำดับที่สี่ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และอุตสาหกรรมบริการ เช่น โรงงานซ่อมและผลิตเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์การเกษตร โรงงานหีบอัดฝ้ายและนุ่น โรงสีข้าวและโรงงานสกัดน้ำมันพืช โรงงานอุตสาหกรรมหินอ่อน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต อุตสาหกรรมทำเยื่อกระดาษสา เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ การทอผ้าตีนจกที่บ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย การทำเครื่องปั้นดินเผา ที่บ้านทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ การทำเซรามิคประเภทสังคโลกโบราณ ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย และอำเภอศรีสัชนาลัย การทำน้ำตาลงบอ้อย ที่ตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง และตำบลวังไม้ขอน ตำบลย่านยาว อำเภอสวรรคโลก 

           
รางวัลดีเด่นของจังหวัด

            คณะกรรมการว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานรัฐและสำนักงาน
 ก.พ. ได้พิจารณาเลือกจังหวัดดีเด่นในการบริการประชาชนประจำปี พ.ศ. 2544 ซึ่งจังหวัดสุโขทัยได้รับเกียรติยศ 2 รางวัล คือ

            1. รางวัลดีเด่นด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

            2. รางวัลชมเชยด้านสาธารณสุข ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสถานีอนามัย