สุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมากทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ยิ่งในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยด้วยแล้ว พระพุทธศาสนานับว่ารุ่งโรจน์ที่สุดกว่ารัชสมัยใด ๆ ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เองทั้งประติมากรรม รูปเคารพ และเครื่องรางของขลังซึ่งพบจากกรุต่าง ๆ ที่จังหวัดสุโขทัยจึงงดงามในแบบศิลปะสุโขทัย และพบว่ามีการสร้างพระเครื่องด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อดิน เนื้อชิน เนื้อตะกั่ว และเนื้อชินเขียว สรุปแล้วนิยมสร้างพระประเภทเนื้อชินเงินมากที่สุด เป็นที่น่าสังเกตว่า เฉพาะที่ตัวเมืองสุโขทัยแล้ว กลับเป็นแหล่งพระพุทธรูปศิลปะแบบสุโขทัยยุคต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แต่พระเครื่องยอดนิยมสมัยปัจจุบันซึ่งงามเลิศทางศิลปะและสูงค่ายิ่งในราคากลับไปปรากฏอยู่ที่กรุเมืองอื่นๆ มากกว่าเมืองสุโขทัย

               

          พระลีลาวัดถ้ำหีบ
          พระลีลากรุวัดถ้ำหีบ พบอยู่ในถ้ำบนเขาวัดถ้ำหีบเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2492 นอกจากนั้นพระเครื่องในลักษณะนี้ยังพบที่วัดเขาพระบาทน้อย วัดเขาพระบาทใหญ่ วัดเขาตะพานหิน และที่กรุวัดเขาเจดีย์งามอีกด้วย ถึงกระนั้นแต่ละกรุดังกล่าวก็ยังหางดงามเทียบเท่าพระลีลากรุวัดถ้ำหีบมิได้เลยเท่าที่ปรากฏจะมีทั้งชนิดเนื้อดินเผาและเนื้อชิน นอกจากจะทำเป็นลีลาธรรมดาแล้ว ยังมีชนิดแบบข้างเม็ดอีกด้วย พระพุทธคุณดีด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด

        
พระร่วงหลังรางปืน
          ในสกุลพระร่วงทั้งหมด "พระร่วงหลังรางปืน" เป็นพระยอดนิยมอันดับหนึ่ง กรุต้นกำเนิดพบเพียงแห่งเดียวที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สวรรคโลก (วัดพระปรางค์) พระร่วงหลังรางปืน เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดงแกมม่วง มีไขขาวสลับขึ้นทั้งหน้าและหลัง เป็นพระร่วงพิมพ์เดียวกับของเมืองลพบุรีแต่ด้านหลังองค์พระเป็นร่องแอ่งลึกคล้ายรางปืน ต่างจากกรุที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ที่หลังเป็นลายผ้า
          ในปี พ.ศ. 2493 พระร่วงหลังรางปืนได้แตกกรุโดยมีพระขึ้นจากกรุครั้งนั้นประมาณ 200 องค์ เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง และเนื้อชินปนตะกั่วสนิมดำมีไขขาวหุ้มตลอดหน้าหลัง นับเป็นพระร่วงกรุเดียวที่มีพระออกจากกรุในสภาพที่ดีมาก ปัจจุบันพระร่วงหลังรางปืนซึ่งมีพิมพ์ตรงกับพระร่วงหลังลายผ้าลพบุรีเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมมาก เพราะนอกจากความงามตามศิลปะลพบุรี และคำว่า "รางปืน" ชื่อต่อท้ายของพระพิมพ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มอิทธิพลให้กับพระร่วงหลังรางปืน เป็นพระร่วงยืนอันดับหนึ่งที่มีค่านิยมสูงสุด

         
พระร่วงหลังลิ่ม
           วัดช้างล้อม เป็นวัดหลวงที่สำคัญครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย มีพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ รอบ ๆ ฐานพระเจดีย์มีรูปปั้นช้างรายรอบไว้ 36 เชือก พระร่วงหลังลิ่มที่วัดช้างล้อมแตกกรุครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2480 และอีกครั้งใน พ.ศ. 2495 หลังจาก พ.ศ. 2500 เป็นต้นไปที่กรุบ้านแก่งสาระจิต กรุวัดเจดีย์เจ็ดแถว ก็มีพระพิมพ์นี้ด้วย และครั้งสุดท้ายที่กรุวัดเขาพนมเพลิงใน พ.ศ. 2507 ก็พบพระร่วงพิมพ์นี้ด้วยแต่องค์เล็กไปและหลังจะไม่มีลิ่ม (ที่กรุชัยนาทก็เคยมีผู้พบเช่นกัน) เชื่อกันว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นผู้สร้างไว้ ดังนี้ อีกปางหนึ่งประทับยืน  เรียกกันทั่วไป "พระร่วงหลังเข็ม" เนื่องจากด้านหลังองค์พระมีลักษณะนูนคล้ายเข็ม  เป็นพระร่วงยืนที่พบน้อยมากและค่อนข้างหายาก

 

          พระอู่ทอง "ตะกวน"
          พระอู่ทอง "ตะกวน" เป็นพระเครื่องเนื้อชินชั้นนำของกรุ "วัดเขาพนมเพลิง" ที่เมืองศรีสัชนาลัย เก่าซึ่งได้แตกกรุออกมาเมื่อ พ.ศ. 2507 นับเป็นพระเครื่องพิมพ์เดียวที่ไม่เคยพบจากกรุอื่นใดมาก่อนเลย ปัจจุบันนี้นับว่าเป็นของหายากซึ่งมีพระพุทธคุณด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี

         
พระกำแพง "กล้วยตาก"
          เป็นพระลีลาเนื้อดินเผาของกรุสวรรคโลกอีกพิมพ์หนึ่ง พบที่กรุวัดพระยาดำเมื่อ พ.ศ. 2455 และต่อมา พ.ศ. 2490 ก็มีผู้พบอีกครั้งหนึ่งที่เขาพนมเพลิงและเขาสุวรรณคีรี พระกำแพงกล้วยตากมีทั้งชนิดเนื้อละเอียดและชนิดเนื้อหยาบมากจนคล้ายเนื้อไหกระเทียม (เนื้อเตาทุเรียง)

         
พระศาสดา
          พระศาสดา เป็นพระเครื่องเนื้อชินเงินมีปรอทจับผิวขาววาววับอีกพิมพ์หนึ่งของกรุวัดเขาพนมเพลิง ซึ่งได้รับความนิยมในระดับเดียวกับพระอู่ทอง "ตะกวน" เช่นกัน ต้นกำเนิดของพระศาสดาพบที่กรุวัดใหญ่เมืองพิษณุโลกมานานแล้ว และต่อมาก็พบที่กรุวัดเขาพนมเพลิงจำนวนไม่มากนัก ในด้านพุทธคุณคือ คงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด

         
พระท่ามะปราง
          พระท่ามะปราง ของกรุเมืองสุโขทัยลักษณะจะดูคล้ายกันมาก พบครั้งแรกที่กรุวัดมหาธาตุ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2435 มีพระพิมพ์นี้เพียงเล็กน้อย และที่กรุวัดเจดีย์งามก็มีผู้พบพระพิมพ์นี้อีกไม่มากนัก แต่ที่มีชื่อและนิยมกันมากได้แก่ พระท่ามะปราง ของกรุวัดเจดีย์สูง ซึ่งแตกกรุถึง 2 ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. 2501 กับพ.ศ. 2508 ครั้งสุดท้ายที่แตกกรุมีจำนวนถึง 2, 000 องค์ พระท่ามะปรางกรุวัดเจดีย์สูงมีสร้างไว้ทั้งชนิดเนื้อชิน และเนื้อดิน ที่นิยมกันมากคือ เนื้อชินเงิน ในด้านพุทธคุณเด่นในทางแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี

         
พระ "วัดป่ามะม่วง" 
         
พระเครื่องวัดป่ามะม่วงนี้เป็นพระศิลปะแบบสุโขทัยยุคต้น หลักฐานจากศิลาจารึกเมื่อพ.ศ. 1905 กล่าวไว้ว่า พระมหาธรรมราชาลิไทย พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ได้เสด็จออกผนวชและทรงประทับอยู่ที่พระอารามแห่งนี้ด้วย พระ "วัดป่ามะม่วง" เป็นพระเนื้อดินละเอียด ลักษณะมนโค้งคล้ายกับไข่ผ่าซีก ด้านหลังจะอูมนูน สำหรับพระ "วัดสระศรี" จะมีขนาดเดียวกัน ผิดกันตรงปลายยอดจะแหลม หลังจะนูนเล็กน้อย องค์พระทุกอย่างจะเหมือนกับพระวัดป่ามะม่วง พุทธคุณมีเช่นเดียวกันคือ เมตตา แคล้วคลาด และคงกระพันชาตรีด้วย

   

 

   

          นอกจากเครื่องรางของขลังกรุเก่าแล้ว ปัจจุบันก็มีผู้นิยมบูชาเครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคลของพระเถระต่างๆ เช่น พระรูปและเหรียญพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลวงพ่อศิลา (จำลอง) วัตถุมงคลของหลวงพ่อปี้ วัตถุมงคลของหลวงปู่โถม กัลยาโณ ฯลฯ