ประวัติ

     นายสาธร    โสรัจประสพสันติ

     เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2484 ที่ตำบลหาดเสี้ยว  อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

     เป็นบุตรนายอิน และนางฮ่อน กระบาย

     สมรสกับนางยุพร มีบุตรธิดา ด้วยกัน 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน

     ปัจจุบันพำนักอยู่บ้านเลขที่ 477 หมู่ที่ 2 ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

   การศึกษา  

นายสาธร โสรัจประสพสันติ เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านหาดสูงประชานุกูล จากนั้นได้ไปฝึกหัดเย็บผ้าที่หน้าค่าย ม. พันเจ็ด จังหวัดอุตรดิตถ์

          

การทำงาน
    ชีวิตในวัยเด็ก ได้เริ่มทำงานเป็นคนงานรถไฟ เช็ดถูตู้รถไฟในเวลากลางคืน ส่วนตอนกลางวัน ได้รับจ้างเย็บผ้า การทำงานช่วงนี้เป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากพิจารณาว่าอาชีพคนงานรถไฟไม่สามารถสร้างฐานะได้มั่นคง ในพ.ศ. 2501 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานเป็นช่างเย็บเสื้อผ้าที่ร้านตัดเสื้อผ้าชายชื่อ "มาวินเทเลอร์" ต่อมาได้มีโอกาสแสดงภาพยนต์เป็นตัวประกอบเรื่อง คู่กรรม และเรื่องอื่นๆ อีกหลายต่อหลายเรื่อง จากนั้นก็กลับไปที่จังหวัดลำปางทำงานเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและยังมีงานแสดงละครโทรทัศน์ออกอากาศทางช่อง 8 ลำปางบ้าง ครั้งหนึ่งเคยค้าขายเครื่องประดับ "โป่งข่าม" เพราะเกิดกระแสความนิยมในตอนนั้นแต่กิจการไม่ประสบผลสำเร็จเพราะมีข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับผู้สวมใส่เครื่องประดับนี้ 
      ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตตลอดระยะเวลาหลายปี ทำให้นายสาธร โสรัจประสพสันติได้พิจารณาที่จะสร้างหลักฐานที่มั่นคงให้แก่ชีวิต จึงได้ย้อนรำลึกถึงอดีตที่ผ่านมาว่าความรักในเรื่องของผ้าในส่วนของการออกแบบตัดเย็บได้ฝังลึกอยู่ในจิตสำนึกมาแต่เยาว์วัย จึงตัดสินใจที่จะเลือกเป็นอาชีพหลัก และมุ่งมั่นสร้างผลงานให้ออกสู่สายตาประชาชนทั่วไปในหลายรูปแบบ 

ผลงานที่สร้างชื่อเสียง
    1. การประยุกต์ใช้ผ้าพื้นเมืองหาดเสี้ยว 
     ซึ่งเป็นหัตถกรรมท้องถิ่นของชาวไทยพวนโดยนำมาตกแต่งกับเสื้อผ้าเครื่องใช้ให้งดงาม ติดตาต้องใจสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น อาทิ เสื้อผ้าแบบต่างๆ เนคไทค์หลากหลายทั้งสีสันและลวดลาย รวมทั้งกระเป๋าถือที่นำผ้าทอลายหาดเสี้ยวมาตกแต่งได้อย่างเหมาะสม ผลงานเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ทำให้ผ้าตีนจกหาดเสี้ยวมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่ได้เงียบเหงาซบเซาไปนานถึง 30-40 ปี เมื่อประชาชนให้ความสนใจผ้าตีนจกอย่างมากมายเช่นนี้ เป็นผลให้ประชาชนในหมู่บ้านหาดเสี้ยว หาดสูง บ้านใหม่ ที่เป็นเจ้าของหัตถกรรมผ้าล้ำค่าในเรื่องของผ้าตีนจก ได้มีงานทำสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี
     2. การออกแบบและประดิษฐ์ลวดลายผ้าพื้นเมืองแบบใหม่
   
ได้แก่  ซิ่นเคี้ยะ ได้นำลวดลายผ้าตีนจกประดิษฐ์ผ้าถุง โดยทอด้วยการแยกลายตีนจกโปร่งตาตลอดทั้งถุง ซิ่นเคี้ยะมีราคาสูงมากเมื่อมีผู้นำไปจำหน่ายหรือเผยแพร่แหล่งอื่นกล่าวคือมีราคาสูงถึง 6,000 - 10,000 บาท ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปเช่น จกลายทานตะวัน ลายบัวคว่ำบัวหงาย ฯลฯ
      3. การอนุรักษ์ลายผ้าตีนจก 
      นายสาธร โสรัจประสพสันติ ได้เป็นผู้รวบรวมอนุรักษ์ผ้าตีนจกหาดเสี้ยวทั้ง 9 ลายคือ ลายเครือใหญ่ ลายสี่ขอ ลายสองท้อง ลายมนสิบหก ลายสิบสองหน่วยตัด ลายแปดขอ ลายเครือกลาง ลายเครือน้อย ลายน้ำอ่าง และได้พัฒนาการทอแบบโบราณจากการใช้สีแดงที่เป็นเส้นยืนมาใช้สีดำเป็นเส้นยืน (ยืนเครือ) แล้วทอด้วยสีอื่น ทำให้ตีนจกที่ออกมามีสีสันงดงาม ถ้าเป็นสีม่วงก็เป็นสีม่วงสลับสีดำ สีม่วงจึงมีสีทึบลง สีน้ำเงินก็จะมีสีเข้ม ทำให้เมื่อนำไปต่อกับซิ่นแล้วมีสีสันงดงามกลมกลืนกันทำให้ตีนจกเด่นงดงามมีคุณค่าขึ้นจนเป็นที่นิยมอย่างมาก ปัจจุบันได้ขยายงานโดยมีแกนนำในการสอนวิชาชีพแก่เยาวชน โดยสร้างโปรแกรมการทอผ้าตีนจกทั้ง ๙ ลาย ให้นักเรียนสามารถปฏิบัติการทอได้ด้วยตนเองนับว่าเป็นความคิดริเริ่มที่ดีที่จะบังเกิดผลดีต่อการพัฒนาการทอผ้าของอำเภอศรีสัชนาลัยอีกต่อไปในอนาคต 
     4. การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยพวนหาดเสี้ยว  
      นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา นายสาธร โสรัจประสพสันติ ได้เพิ่มประสบการณ์ด้านผ้าซิ่นพื้นเมืองหาดเสี้ยวได้เริ่มสะสมผ้าตีนจก ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวไทยพวน เช่น ยุ้งข้าว ฉางข้าว เครื่องหีบอ้อย อุปกรณ์ในการทำนา ไถคราด กระดิ่ง เครื่องใช้ในครัวเรือน การสะสมของมีค่ามากมายเหล่านี้ นายสาธร โสรัจประสพสันติไม่ได้เก็บไว้ดูเพียงผู้เดียว หากแต่ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง สาธิตวิธีทอผ้าให้นักท่องเที่ยว หรือผู้สนใจทั่วไปเข้าชมโดยไม่คิดมูลค่า นับว่าเป็นประโยชน์ยิ่งต่องานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย
    
5. งานด้านวิทยากร
     ในระยะหลังเมื่อนายสาธร โสรัจประสพสันติ มีชื่อเสียงเป็นที่ปรากฎแก่คนทั่วไปรวมทั้งได้สั่งสมประสบการณ์เกี่ยวกับงานผ้าอย่างดี จนเป็นที่ยอมรับทั่วไปแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มาขอความร่วมมือให้เป็นวิทยากรและสาธิตอยู่เสมอ

การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม
     นายสาธร โสรัจประสพสันติ ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมมากมาย ดังนี้ 
     1. จัดตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านหาดเสี้ยวทำให้มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมากเป็นศูนย์รวมแหล่งความรู้แก่นักเรียน นักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม การออกแบบอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมศิลป์ วัฒนธรรมและศิลปพื้นบ้าน ตลอดจนชาวไทย และชาวต่างประเทศ 
     2. ร่วมบริจาคและร่วมสร้างหอสมุดฉุย วงศ์วิเศษ
     
นายสาธร ได้ร่วมบริจาคเงินและสร้างห้องสมุดฉุย วงศ์วิเศษ (มูลนิธิศุภนิมิตอนุเคราะห์) โดยเป็นแกนนำประชาชนชาวบ้านหาดสูง บ้านใหม่ บ้านไผ่ และบ้านหาดเสี้ยวร่วมกันสร้างห้องสมุดประชาชน ประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ 175,500 บาท (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) สร้างสำเร็จและส่งมอบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2538
      3. มอบทุนการศึกษา
      นายสาธร เป็นผู้มีความเมตตากรุณา โอบอ้อมอารีแก่ผู้มีฐานะยากจน โดยได้มอบทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียนหลายแห่ง ได้แก่โรงเรียนเมืองเชลียง โรงเรียนบ้านด่านลานหอยวิทยา 

 


ผ้าซิ่นไหมคำ ( ซิ่นทองคำ )

เกียรติคุณที่ได้รับ

     นายสาธร โสรัจประสพสันติ ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ให้เป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2534 และรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้านการจัดการธุรกิจชุมชน พ.ศ. 2537