พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช


       มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดตั้งขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา โดยได้อัญเชิญพระนามพ่อขุนรามคำแหงมหาราชบูรพกษัตริย์ของประเทศไทยผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยิ่งใหญ่ไพศาลมาแล้วในอดีต มาตั้งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 10 ในปีพุทธศักราช 2514 ในระยะแรกได้ใช้อาคารสถานที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งชั่วคราว ต่อมาได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้สถานที่นี้เป็นที่ถาวรได้ตลอดไป ในปีพุทธศักราช 2515 



นับแต่ได้สถานที่เป็นที่ตั้งถาวรแล้ว มหาวิทยาลัยได้เร่งดำเนินการก่อสร้างอาคารและปรับปรุงสถานที่ให้ทันกับการเปิดสอนของแต่ละปีมาโดยลำดับ ถาวรวัตถุสิ่งแรกที่มหาวิทยาลัยเห็นว่าจำเป็นจะต้องก่อสร้างก่อนก็คือ ที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งมหาวิทยาลัยได้อัญเชิญมาเป็นเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เมื่อได้สร้างเสร็จและอัญเชิญพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมาประดิษฐานเรียบร้อยแล้ว ถาวรวัตถุนี้จะเป็นสัญญลักษณ์ที่รวมพลังกาย พลังใจของคณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษาให้มุ่งประกอบแต่ความดีงามอันจักเป็นคุณต่อชาติบ้านเมืองสืบไป สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในการประชุมครั้งที่ 4/2515 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2515 ได้อนุมัติเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเป็นค่าก่อสร้างที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และให้มีห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยไว้ข้างใต้ด้วยเป็นเงิน 1 ล้านบาท ได้ประกวดราคาดำเนินการก่อสร้างในราคา 829, 000 บาท และมีรายการปูหินอ่อนที่บันไดขึ้นลงที่ชานวงกลมตอนบนและตรงฐานที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอีกเป็นเงิน 923,000 บาท การก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2516 

          สำหรับพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ได้จัดสร้างตามแบบของกรมศิลปากร เป็นโลหะทองเหลืองผสมทองแดงและรมดำ ความสูงจากพื้นฐานถึงยอดพระมาลา 115 เซนติเมตร พระหัตถ์ขวาทรงถือหนังสือ และประทับบนพระแท่นมนังคศิลาบาตร การหล่อพระบรมรูปต้องใช้วิธีแยกเทองเป็นส่วนๆ รวมถึง 5 ส่วน กว่าจะเสร็จครบบริบูรณ์ต้องใช้เวลาถึง 8 เดือนเศษ มหาวิทยาลัยได้รับมอบพระบรมรูปไว้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2514 แต่เนื่องจากเป็นการสมควรประดิษฐานพระบรมรูปไว้ในที่ตั้งอันถาวรไม่ต้องเคลื่อนย้ายต่อไปอีก และการปรับปรุงอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยขณะนั้นยังไม่สำเร็จเรียบร้อย จึงยังมิได้กระทำพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งมหาวิทยาลัยถือเป็นการเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการด้วย พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงประดิษฐานชั่วคราวอยู่ที่หน้าอาคารหอประชุม (AD 1)อย่างไรก็ดีคณาจารย์ ข้าราชการและนักศึกษาได้ให้ความเคารพสักการะและบำเพ็ญกุศลในวันขึ้นปีใหม่ และโอกาสสำคัญต่างๆ เป็นประจำเสมอมา

          เมื่อการปรับปรุงอาคารสถานที่เดิมจากลานพระยานาคของมหาวิทยาลัยได้สำเร็จลุล่วงไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งมหาวิทยาลัยได้ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไว้ที่ประดิษฐานเหนือห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็นการถาวรแล้ว มหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นที่ 1 
      26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2518 คือ วันมหาปิติของชาวรามคำแหงทั้งมวล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมแผ่นคำจารึกที่ฐานพระบรมรูป พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานกระทั่งแตรมโหรทึก กองลูกเสือเกียรติยศสำหรับพ่อขุนรามคำแหงมหาราชถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายพระบรมรูปและทรงเจิมแผ่นคำจารึก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถทรงวางพวงมาลา แล้วทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะกราบถวายบังคมพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 

คำจารึกพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

        พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระราชโอรส
  ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพระนางเสือง เป็น
  พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์พระร่วง 
  เสวยราชย์ประมาณพ.ศ. ๑๘๒๐ และสวรรคต 
  ประมาณ พ.ศ. ๑๘๖๐
       พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นนักรบเก่งกล้า
  ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถ ทรงเป็นนักปราชญ์
  คิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ 
       มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้อัญเชิญพระนามาภิไธย
   ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมาเป็นพระนามมหาวิทยาลัย
  ทั้งได้สร้างพระบรมรูปประดิษฐานไว้เพื่อเป็นเกียรติ
  และเป็นที่เคารพสักการะของนักศึกษา และคณาจารย์
  แห่งมหาวิทยาลัยนี้ ขอสถาบันแห่งนี้จงสถิตสถาพร
  ตั้งมั่นอยู่คู่กับประเทศไทย เป็นที่ประสิทธิ์ประสาท
  ศิลปวิทยการแก่ประชาชนถ้วนทั่วทุกหมู่เหล่า
  ตลอดไป


* ศาสตราจารย์คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส ผู้ประพันธ์คำจารึก

 

          พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ สัญญลักษณ์ที่เป็นศูนย์รวมพลังกายพลังใจของชาวรามคำแหงทั้งมวล ที่จะน้อมรำลึกถึง
พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของกษัตริย์มหาราชพระองค์แรกของไทย และรวมน้ำใจกันปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตนรับผิดชอบเพื่อความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย และประเทศชาติสืบไป