เมื่อย่างเข้าเดือนสาม หากมีใครสักคนได้ยินเสียงฟ้าร้องเป็นครั้งแรก ผู้เฒ่าชาวไทยพวนจะพูดกับลูกหลานว่า "ฟ้าฮ้องแล้ว พวกเจ้าได้ยินไหม วันฮ่งต้องกำฟ้าเน้อ ถ้าไม่มีผีฟ้าจะลงโทษเจ้ามิให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้ใดบ่เชื่อฟัง ฟ้าจะผ่าถึงตายเน้อ"
          ประเพณีกำฟ้า หรือประเพณีเดือน 3 เป็นประเพณีของชาวไทยพวนที่ถือปฏิบัติกันมากว่า 200 ปีแล้ว กำฟ้า เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการนับถือ และสักการะเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนฟ้า หรือที่เรียกว่า ผีฟ้า ซึ่งชาวไทยพวนในจังหวัดต่าง ๆ ได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ หากปีใดชาวไทยพวนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดความแห้งแล้งอดอยากหรือมีเหตุทำให้ฟ้าผ่าคนตายซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษอย่างร้ายแรงของผีฟ้า ทำให้ชาวไทยพวนทั้งหลายเกรงกลัวต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
          จุดมุ่งหมายสำคัญของประเพณีกำฟ้าอยู่ที่การให้โอกาสแก่ชาวไทยพวน ซึ่งทำไร่ไถนาเหน็ดเหนื่อยมาโดยตลอด ได้มีโอกาสพักผ่อนเป็นระยะ ๆ ถึงสามระยะในหนึ่งปี ถ้าไม่มีประเพณีนี้ชาวไทยพวนก็อาจจะพักผ่อนกันเอง หรือบางคนอาจจะไม่พักผ่อนก็ได้ การกำหนดให้มีพิธีกำฟ้าจึงเป็นการบังคับทุกคนให้หยุดงานพร้อม ๆ กัน ได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์รื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจสมัครสมานสามัคคีกัน นอกจากนี้ในระหว่างพิธีก็จะมีการละเล่นอย่างสนุกสนานทำให้ได้พักผ่อนหย่อนใจอีกทางหนึ่งด้วย เปรียบได้กับประเพณีตรุษไทยและตรุษจีนซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกับพิธีกำฟ้าของชาวไทยพวน แต่แตกต่างกันในวิธีการปฏิบัติเท่านั้น การเข้ากำฟ้า จะเข้ากำ 3 ครั้ง
         
พิธีกำฟ้าครั้งแรก จะกำหนดงานสองวันคือวันสุกดิบวันเเรก ตรงกับเดือนสาม ขึ้น 2 ค่ำ ถือว่าเป็นวันเตรียมงานหรือวันสุกดิบ หลังจากกินอาหารเช้าแล้ว บรรดาสาว ๆ และแม่บ้านทั้งหลายต่างพากันแต่งตัวอย่างวิจิตรบรรจงไปวัด ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะนุ่งผ้าซิ่นรัดอก ถ้าเป็นหญิงสาวอายุ 15-16 ปีก็ไว้ผมยาวทรงตุ๊กตาไทยและใช้เชือกผูกผม สาว ๆ ที่อายุ17-19 ปี ก็ทำผมที่เรียกว่า "โค้งผม" ส่วนผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจะไว้ผมขมวดเป็นกระจุกไว้กลางหัวคล้าย ๆ จุกกระเทียม 
          นับแต่ตอนสายของวันสุกดิบ ตามถนนหนทางจากหมู่บ้านจะเต็มไปด้วยหญิงสาว คนเฒ่าคนแก่ เมื่อไปถึงวัดแล้วก็แยกกันไปทำงานตามที่ตัวเองถนัด บางคนก็เผาข้าวหลาม บางคนก็จี่ข้าว (ปิ้งข้าวเหนียว) ในขณะที่ทำงานก็พูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ สู่กันฟังอย่างสนุกสนาน ข้าวหลามที่ได้จากการเผาในงานนี้ชาวไทยพวนถือว่าเป็น "ข้าวหลามทิพย์" ซึ่งจะใช้ในพิธีบายศรี ที่เหลือก็แจกแบ่งปันกันกินด้วยความเชื่อกันว่า ใครก็ตามที่กินข้าวหลามจะไม่โดนฟ้าผ่า
          พอถึงเวลาสามโมงเย็น ชาวไทยพวนก็จะร่วมกันทำบุญ เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นลง เจ้าพิธีซึ่งเป็นผู้รู้ในหมู่บ้านก็จะทำหน้าที่สวดเบิกบายศรีบูชาผีฟ้าแล้วอ่านประกาศอัญเชิญเทวดาให้มารับเครื่องสังเวย เสร็จแล้วจึงเป็นการรำขอพรจากผีฟ้าเพื่อให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข จากนั้นก็จะแยกย้ายกลับบ้านของตน ตกดึกก่อนที่จะเข้านอนคนเฒ่าคนแก่จะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟแล้วพูดในสิ่งที่เป็นมงคล เพื่อให้ผีฟ้าผีบ้าน ผีเรือน ได้ช่วยปกปักรักษาคนในครอบครัวให้มีความสุข ทำมาหากินได้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์
          วันที่สองเป็นวันกำฟ้า ตรงกับเดือนสามขึ้น 3 ค่ำ ชาวไทยพวนจะหยุดทำงานตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดิน และใครจะส่งเสียงอึกทึกครึกโครมไม่ได้ โดยเชื่อว่า ถ้าใครทำเสียงอึกทึกครึกโครมฟ้าจะผ่า ทำให้ความเงียบสงบครอบคลุมไปทั้งหมู่บ้าน เกิดบรรยากาศเยือกเย็นขรึมอย่างประหลาด ในวันกำฟ้านี้ ชาวบ้านจะพากันตื่นตั้งแต่เช้ามืด หุงหาอาหารทั้งคาวหวาน รวมทั้งข้าวหลามและข้าวจี่ใส่สำรับไปถวายพระที่วัด โดยใส่ตะกร้ามีสายสำหรับคล้องไม้คานแล้วเอาอาหารไปรวมกันที่กุฏิที่เรียกว่า "หอแม่ออก" คนเฒ่าคนแก่และญาติโยมซึ่งเรียกว่า "พ่อออกและแม่ออก" จะช่วยกันจัดสำรับภัตตาหารถวายพระ จากนั้นพระสงฆ์จะให้ศีลและแสดงธรรมสั้น ๆ เสร็จแล้วฉันภัตตาหาร ยถาสัพพีตามประเพณี ส่วนชาวบ้านก็จะร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน และกลับถึงบ้านตอนสาย ๆ 
         
พิธีกำฟ้าครั้งที่ 2  การกำครั้งที่สองจะห่างจากการกำครั้งแรกเจ็ดวัน โดยเริ่มจากเดือนสามขึ้น 9 ค่ำ จะมีการกำฟ้าตั้งแต่ตะวันตกดินไปจนถึงวันรุ่งขึ้น 10 ค่ำ เมื่อถึงเวลาเพลชาวบ้านจะนำอาหารเพลไปถวายพระที่วัดเรียกว่า "ไปเพล" วิธีการก็เช่นเดียวกับการถวายอาหารเช้า คือ การนำเอาอาหารไปรวมกันที่หอแม่ออกแล้วรับศีลและฟังธรรมต่อจากนั้นจึงถวายอาหาร พระฉันเสร็จแล้วจึงยถาสัพพี เป็นอันเสร็จการทำบุญ เมื่อกลับจากการไปเพลแล้ว ชาวไทยพวนเรียกว่า "คืนเพล" ถือว่าเลิกกำ ใครจะทำงานทำการอะไรก็ได้
        
พิธีกำฟ้าครั้งที่ 3 จะห่างจากการกำครั้งที่สอง 5 วัน พอเดือนสามขึ้น 14 ค่ำ เมื่อตะวันตกดินแล้ว ชาวไทยพวนเริ่มจะกำอีกครั้งหนึ่ง และกำตลอดไปจนถึงวันรุ่งขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะรีบตื่นกันแต่เช้า จัดเตรียมข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานไปถวายพระเรียกว่า "ไปจังหัน" การกำครั้งนี้ถือว่า เป็นการกำครั้งสุดท้าย
          ในตอนเย็น เมื่อหุงข้าวเย็นรับประทานกันแล้ว ชาวไทยพวนทุกบ้านจะต้องเอาดุ้นฟืนเฉพาะดุ้นที่ไฟไหม้มากที่สุดไปดับที่แม่น้ำลำคลอง โดยการโยนทิ้งให้ไหลไปตามสายน้ำ หรืออาจนำไปโยนตรงหนทางที่บรรจบกัน แสงไฟจากดุ้นฟืนที่วาบไหวไปตามทางเดินในความมืดให้บรรยากาศสั่งลาพิธีกำฟ้าเป็นไปอย่างน่าศรัทธา การดับฟืนชาวไทยพวนจะใช้มือหนึ่งถือดุ้นฟืน อีกมือหนึ่งถือกะลามะพร้าวใส่น้ำสำหรับดับไฟ เมื่อไปถึงแม่น้ำลำคลองหรือทางที่มาบรรจบกันก็เทน้ำในกะลามะพร้าวดับไฟ จากนั้นจึงโยนทิ้งไปเรียกว่า
"เสียแสงฟืนแสงไฟ" เป็นอันเสร็จพิธีกำฟ้าในปีนั้น