ประวัติ

      ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เป็นบุตรชายคนแรกของนายเชย และนางชอุ่ม อยู่ดี (สกุลเดิมเอมะสุวรรณ) 
       เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 ที่ตำบลวังไม้ขอน อำเภอเมือง จังหวัดสวรรคโลก (ต่อมาในปี พ.ศ.2460 อำเภอเมืองเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอวังไม้ขอน อีก 20 ปีต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองสวรรคโลก
       ในปี พ.ศ.2482 ทางราชการได้ยุบจังหวัดสวรรคโลก แล้วโอนอำเภอเมืองสวรรคโลกไปขึ้นกับจังหวัดสุโขทัย และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสวรรคโลก) 
       เนื่องจากนายเชย อยู่ดี บิดาเดิมรับราชการในตำแหน่งเสมียน หอทะเบียนที่ดินจังหวัดสวรรคโลกต่อมาย้ายไปรับราชการที่หอทะเบียนจังหวัดจันทบุรีในตำแหน่งเสมียนเอก 

 

 

      การศึกษา

          การศึกษาชั้นต้นของศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เริ่มเข้าศึกษาที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดจันทบุรี คือ "โรงเรียนศรียานุสรณ์" เมื่อ พ.ศ.2462 ต่อมา พ.ศ.2464 จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัด "เบญจมราชูทิศ" จบชั้นมัธยมปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2471 แล้วเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สอบมัธยมปีที่ 8 เมื่อ พ.ศ.2473
          จากนั้นก็เริ่มศึกษาด้วยตนเองจนสอบได้ประกาศนียบัตรครู ป.ป. และประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (พ.ม.) พ.ศ.2491 ศึกษาด้วยตนเองโดยการซื้อคำบรรยายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองไปศึกษาแล้วเข้าสอบข้อเขียนและปากเปล่าทุกวิชา เมื่อจบชั้นอนุปริญญาแล้วเข้าสอบวิชารวมด้วยปากเปล่าจนศึกษาจบชั้นปริญญาตรี ซึ่งคณะอาจารย์จะเลือกถามวิชาใดก็ได้ สอบได้ครบแล้ว จะมีการอบรมอีก 1 วัน นายชิน อยู่ดี ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ.2491

      การทำงาน

          ในช่วงเวลาที่จบการศึกษาชั้นมัธยมแล้วก็ไปสมัครเข้าเรียนนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายร้อยตำรวจ แต่สอบเข้าไม่ได้ สมัยนั้นการหางานทำยากลำบากมากจึงทำงานกรรมกรและเป็นครูโรงเรียนราษฎร์ ในกรุงเทพฯ 

 

          พ.ศ.2475  เข้ารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แต่ยังไม่ได้สอน เพียงแต่ ช่วยงานในห้อง อาจารย์ใหญ่ [พระปวโรฬาร (ป๋อ เชิดชื่อ)] เมื่อไม่มี ครูสอนในชั้นมัธยมปีที่ 6 อาจารย์ใหญ่จึงมีคำสั่งให้ไปสอนแทน 

          พ.ศ.2476-2480 ครูโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์สอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ช่วยสอนวิชาฝีมือและพลศึกษาระหว่างที่ครูประจำวิชานั้นๆ ลาหยุดราชการ 

          พ.ศ. 2481 ดำรงตำแหน่งผู้รั้งตำแหน่งครูใหญ่ตรี โรงเรียนประจำจังหวัดระยอง "ระยองมิตรอุปถัมภ์" ในระยะเวลานั้นมี หลวงอรรถสิทธิสุนทร (ผวน ทองสยาม) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นาย เกรียง กีรติกร (เอี่ยมสกุล) 
เป็นศึกษาธิการจังหวัด 

          พ.ศ. 2485 ย้ายไปเป็นครูตรีที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาสอนวิชาภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์และอีก 4 ปีต่อมาได้ดำรง ตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่โท ระหว่างนั้นมีนายเชื้อ สาริมาน เป็นครูใหญ่โท 

          พ.ศ.2490 โอนมารับราชการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกสารบรรณ สำนักงานเลขานุการกรม กรมศิลปากร ครั้งนั้นพระยาอนุมานราชธน เป็นอธิบดี นายกฤษณ์ อินทโกศัย เป็นเลขานุการกรม 

          พ.ศ. 2494 ย้ายไปอยู่กองโบราณคดี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกพิพิธภัณฑ์พระ นคร หัวหน้าแผนกวิชาการ หัวหน้ากองโบราณคดี ภัณฑารักษ์เอก ภัณฑารักษ์พิเศษ ตามลำดับ ระหว่างนั้นผู้บังคับบัญชาในกองโบราณคดี คือ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ภัณฑารักษ์พิเศษและหัวหน้ากองคนแรก นายมานิต วัลลิโภดม หัวหน้ากองคนที่ 2 และภัณฑารักษ์พิเศษคนที่ 2 

          พ.ศ. 2516 ออกจากราชการเพื่อรับบำนาญด้วยเหตุสูงอายุ

          ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2516 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2519 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร รวมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมเวลาที่รับราชการอยู่ในกรมศิลปากรประมาณ 29 ปี 

          การเปลี่ยนแนวทางการศึกษา

          เหตุที่มาของการเปลี่ยนแนวชีวิตจากอาชีพครู และนักกฎหมาย มาเป็นนักโบราณคดีนั้น เดิมเมื่อยังเป็นเด็กอยู่ มารดาอยากให้ลูกเรียนกฎหมายเพื่อเป็นผู้พิพากษา เพราะเป็นตำแหน่งที่มีผู้เคารพนับถือ และมีเงินเดือนสูง เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 นายชิน อยู่ดี ก็เริ่มเข้ารับราชการครู แต่ก็ยัง
นึกถึงการเรียนกฎหมาย เมื่อมีโอกาสจึงเริ่มเรียนกฎหมาย สอบได้ปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตเมื่อพ.ศ. 2491 แล้วดูหนังสืออย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมสอบเป็นอัยการ แต่ก็มีเหตุจูงใจให้ระงับการสอบอัยการไว้ เพราะระหว่างที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านได้รู้จักนายมานิต วัลลิโภดม หัวหน้าแผนกสำรวจ กองโบราณคดี ซึ่งไปรับราชการ ณ จังหวัดนั้น นายชิน อยู่ดี เริ่มสนใจวิชาโบราณคดีอยู่แล้ว เมื่ออ่านวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา และโบราณสถานที่เกี่ยวกับขุนแผนและนางพิม ก็คิดอยากจะเห็นโบราณสถานในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อย้ายไปรับราชการที่จังหวัดระยองได้ไปสำรวจเมืองโบราณที่อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และมีโอกาสไปสำรวจโบราณสถานกับนายมานิต วัลลิโภดม รวมทั้งได้ศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือต่างๆ เช่น ภูมิสถานอยุธยา (หนังสือที่พระยาโบราณราชธานินทร์เขียนขึ้นไว้) จดหมายเหตุที่ชาวต่างประเทศเขียนขึ้นไว้ ฯลฯ ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีคำสั่งให้นายชิน อยู่ดี ไปทำหน้าที่ล่ามให้แก่นายทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่มาดูแลเชลยศึกญี่ปุ่น และเกาหลี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2490 นายมานิต วัลลิโภดม ได้ให้ความสนับสนุนนายชิน อยู่ดี โดยให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกสารบรรณ สำนักงานเลขานุการกรม กรมศิลปากร ขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง หัวหน้าแผนกสารบรรณอยู่นั้นท่านก็ยังนึกถึงตำแหน่งผู้พิพากษา จึงสมัครเรียนปริญญาโทวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่มาวันหนึ่ง พระยาอนุมานราชธน ปรารภขึ้นมาลอยๆ ว่า "ทำไมจึงมีผู้ศึกษาในสาขาวิชาอื่นๆ แต่วิชาความรู้ที่เกี่ยวกับงานของกรมศิลปากรไม่มีข้าราชการรุ่นใหม่สนใจบ้าง ?" นายชิน อยู่ดี จึงหยุดเรียนปริญญาโทวิชานิติศาสตร์ และเริ่มศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างขะมักเขม้น เน้นหนักในด้านโบราณคดีสาขาก่อนประวัติศาสตร์ พระยาอนุมานราชธนทราบเข้าได้กรุณาถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เมื่อท่านว่าง ทั้งเตือนว่า "การที่มุ่งศึกษาอย่างลึกซึ้งแต่วิชาก่อนประวัติศาสตร์นั้น เหมือนกับการขุดหลุมลึก ยิ่งลึกมากเท่าใด ผู้ที่ลงไปในหลุมก็จะไม่เห็นอะไรได้กว้างขวาง มองเห็นแต่ผนังหลุม ปากหลุมและก้นหลุม ควรจะขุดลงไปในระยะที่พอจะเห็นสิ่งแวดล้อมที่ไกลออกไปด้วย มิฉะนั้นเมื่อฟังคนอื่นเขาพูดเรื่องวิชาอื่นแล้วจะไม่เข้าใจ " คำเตือนของท่านผู้เป็นปราชญ์คนหนึ่งของประเทศไทย เป็นแรงกระตุ้นให้นายชิน อยู่ดี ศึกษาวิชาอื่นๆ อีก เช่น ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา มานุษยวิทยา สาขาวัฒนธรรม พืชและสัตว์ที่เกี่ยวกับโบราณคดี ภาษาถิ่น นิทานประจำถิ่น ฯลฯ คำเตือนดังกล่าวของพระยาอนุมานราชธน ตรงกับคำเตือนของนักโบราณคดีอาวุโสท่านหนึ่งที่กล่าวว่า "นักโบราณคดี จำต้องรู้บางอย่างของทุกสิ่ง (knows something of everything) "

          ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ให้เหตุผลต่อความสนใจในงานโบราณคดีว่า

  1. งานโบราณคดีมีความสำคัญไม่แพ้งานอื่น เพราะงานโบราณคดีช่วยเปิดเผยเรื่องของคนในอดีต ที่ไม่มีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอาศัยตีความจากสิ่งโบราณที่ทำขึ้นไว้ และสิ่งแวดล้อม เรื่องราวของคนตั้งแต่สมัยนับแสนนับหมื่นปี ก็ทราบด้วยการศึกษา ค้นคว้าโบราณคดี ความรุ่งเรืองใน อดีต ก็ทราบได้จากการสำรวจขุดค้น และการตีความด้วยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ

  1. โบราณวัตถุ โบราณสถาน และหลักฐานโบราณคดีอื่นๆ ที่สำรวจและขุดค้นพบเป็นสิ่งที่ช่วยก่อให้เกิดความภูมิใจในความรักชาติ ความหวงแหนดินแดนผืนนี้ของชนชาตินั้นๆ ขณะนี้คนไทยภูมิใจที่ดินแดนของประเทศไทย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของคนมาอย่างน้อยประมาณ 600,000 ปี คนโบราณเหล่านี้มีความเจริญไม่แพ้คนในประเทศอื่น เพราะพบว่าเครื่องปั้นดินเผามีมาราว 8,000 ปี มีการเลี้ยงวัวเมื่อประมาณ 5,500 ปี มาแล้ว มีการหล่อสำริดได้ดี เมื่อหลายพันปีมาแล้ว เครื่องปั้นลายเขียนสีวัฒนธรรมของบ้านเชียงงามไม่แพ้เครื่องปั้นลายเขียนสีในแดนอื่น

          ประสบการณ์และงานที่ปฏิบัติระหว่างที่รับราชการกองโบราณคดี

  1. งานดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (พ.ศ.2495-2499)

  1. สำรวจทางด้านโบราณคดีในภาคต่างๆ และควบคุมดูแลการบูรณะโบราณสถานที่จังหวัดสุโขทัย นครเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมืองกำแพงเพชร (พ.ศ.2494-2512) ปราสาทหินพนมรุ้ง, ควบคุมการบูรณะโบราณสถานในเกาะเมืองและบริเวณใกล้เคียงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2495-2504 กับดูแลการบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ.2517-2518

  1. เป็นหัวหน้าฝ่ายไทยของคณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก และขุดค้นในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี ระหว่าง พ.ศ.2503-2505 ผลทำให้ทราบว่ามีคนก่อนประวัติศาสตร์ แต่สมัยหินเก่า สมัยหินกลาง สมัยหินใหม่และยุคโลหะอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานการสำรวจ 4 เล่ม ซึ่งทางเดนมาร์กจัดพิมพ์ขึ้น

  1. ร่วมสำรวจไทยเชื้อสายชอง ในท้องที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กับนายยอช คองโดมินาส ชาวฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาชั้นสูงในวิชาสังคมศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์เอกสารและวิจัย เรื่องเอเชียอาคเนย์ประเทศฝรั่งเศส

  1. เมื่อ พ.ศ. 2505 ร่วมสำรวจวัฒนธรรมภาคใต้กับคณะสำรวจมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ อันประกอบด้วยนาย Charles Morris นาย Tim Chappel และนาย Stewart Wavell ได้รวบรวมผลการสำรวจบางส่วนและพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Naga King's Daughter เมื่อ พ.ศ. 2507 เป็นหนังสือที่เขียนทำนองสารนิยาย

  1. ร่วมสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีหินใหญ่ (Megalithic site) และแหล่งโบราณยุคเหล็กที่จัทท์แลนด์ ประเทศเดนมาร์ก นับเป็นคนไทยคนแรกที่ขุดค้นที่ประเทศเดนมาร์ก

          ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์พิเศษ (พ.ศ.2500-2516) ศาสตราจารย์ชิน  อยู่ดี ทำหน้าที่นำประมุขต่างประเทศ รัฐมนตรีของประเทศต่างๆ หรือบุคคลสำคัญซึ่งเป็นแขกของรัฐบาลเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร อาทิ พระเจ้าซิมอนที่ 2 แห่งบัลกาเรีย, ฯพณฯ ศรีวราศิริวังกฏคิรี ประธานาธิบดี ประเทศอินเดีย, สมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรลาว, สุลต่านแห่งรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย, เจ้าชายคาลกุสตาฟ มกุฎราชกุมาร เจ้าหญิงมาเกรเธอ มกุฎราชกุมารี แห่งประเทศเดนมาร์ก, ฯพณฯ เหงียนไฮทาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมประเทศเวียดนามใต้, ฯพณฯ อิกาโอ กุราชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ญี่ปุ่น, คณะทูตวัฒนธรรมประเทศโซเวียตรัสเซีย, มาดามเฮลมุต ชมิดส์ ภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีตะวันตก ฯลฯ 

          นอกจากนี้ยังมีงานสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ สอนวิชาภาษาอังกฤษที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, สอนวิชาก่อนประวัติศาสตร์และโบราณคดีสนามที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สอนวิชาโบราณคดีและวิชาก่อนประวัติศาสตร์ที่คณะอักษรศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สอนวิชาโบราณคดีที่คณะสังคมศาสตร์ (แผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 

          ผลงานทางวิชาการของท่านนั้นมีอยู่มากมายไม่เพียงเฉพาะสาขาโบราณคดีก่อนประวัติศาตร์เท่านั้น เพราะหลังจากที่ท่านได้รับทุนรัฐบาลและทุนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ไปศึกษาและฝึกอบรมวิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์และการขุดค้น ณ ประเทศอินเดีย ดูงานการสงวนรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม ณ ประเทศกัมพูชา เวียดนาม อินเดีย ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ ได้ทำหน้าที่ทั้งผู้ควบคุมงานขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานต่างๆ ในจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และพระนครศรีอยุธยา ได้สำรวจทางโบราณคดีและขุดค้นเป็นจำนวนมาก ครั้งสำคัญเป็นหัวหน้าฝ่ายประเทศไทยของกรมศิลปากรร่วมคณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก ในการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในท้องที่กาญจนบุรีและราชบุรี ได้ร่วมสำรวจชาติพันธุ์วิทยา (เผ่าชอง) ในท้องที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรีกับนักชาติพันธุ์วิทยาชาวฝรั่งเศส ฯลฯ 

          หลังจากท่านเกษียณอายุราชการแล้ว กรมศิลปากรได้ขอจ้างท่านไว้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีต่อ ท่านได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2517, ได้รับพระราชทานปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องนับถือในวงการนักวิชาการทางด้านโบราณคดีทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ทางด้านโบราณคดี และวิชาก่อนประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่งท่านได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยและมีผลงานสอนทางด้านโบราณคดี และวิชาก่อนประวัติศาสตร์ตลอดมา ซึ่งนับว่ามีคุณค่าต่อวิชาการด้านโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง ท่านมีส่วนสำคัญที่ทำให้วิชาการโบราณคดีของไทยเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ และเป็นที่นับถืออย่างสูงว่า เป็นปูชนียบุคคลที่ยิ่งใหญ่ทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ของไทยท่านหนึ่ง

          ความเป็นครูของท่าน ท่านเคยกล่าวว่า… 

"ความคิดเห็นทางวิชาการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามข้อมูล แนวความคิด
เทคนิควิธีการที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ
ตามความเหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ครูพูด ครูสอนขณะนี้
อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงในอนาคต
สิ่งที่ครูต้องการคือให้ทุกคน
มีความคิดความเห็นเป็นของตัวเอง…อย่าเชื่อครู"